สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ ณ ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านเลอะกรา อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่
วันที่ 13 มกราคม พ.ศ. 2565 เวลา 09.40 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ ณ ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” บ้านเลอะกรา อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ ศูนย์การเรียนฯ จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2542 เปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาล ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบันมีนักเรียน 33 คน โอกาสนี้ นางกนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ และข้าราชการ เฝ้าฯ รับเสด็จด้วย
การนี้ครูผู้ช่วยถวายรายงานผลการดำเนินงานและความก้าวหน้าของโครงการตามพระราชดำริ จากนั้นทอดพระเนตรกิจกรรมอนุรักษ์วัฒนธรรม ได้แก่ การเล่นเตหน่ากู่ ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีพื้นบ้านของชาวเขาปกาเกอะญอ ลักษณะคล้ายพิณทำด้วยไม้ นิยมเล่นในช่วงหลังการเก็บเกี่ยวข้าว ทอดพระเนตรการทอผ้าชนเผ่ากะเหรี่ยง การจัดการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยระดับประถมศึกษา โดยใช้เพลงเป็นสื่อในการสอน ทำให้นักเรียนซึ่งส่วนใหญ่ใช้ภาษากะเหรี่ยงในการสื่อสาร สามารถเข้าใจภาษาไทยมากยิ่งขึ้น
จากนั้นทอดพระเนตรการจัดการศึกษาสำหรับผู้ใหญ่ หลักสูตรการศึกษานอกระบบระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน โครงงานเพื่อพัฒนาผู้เรียน การจัดการเรียนการสอนระดับปฐมวัย เรื่องสอนการปั้น โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ศูนย์การเรียนฯ ได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ ได้แก่ การปลูกพืชผัก ไม้ผล เลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ และเลี้ยงปลา ทำให้มีผลผลิตนำมาประกอบอาหารกลางวันให้แก่นักเรียน ส่งผลให้นักเรียนมีภาวะโภชนาการตามเกณฑ์ รวมทั้งศูนย์การเรียนฯ ยังเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรให้แก่คนในชุมชนได้เข้ามาเรียนรู้และนำความรู้ที่ได้ไปประกอบอาชีพสร้างรายได้
โอกาสนี้พระราชทานพระราชวโรกาสให้ผู้แทนบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) เฝ้าฯ ถวายรายงานผลการดำเนินงานโครงการติดตั้งระบบไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ให้กับสถานบริการสาธารณสุขชุมชน ในพื้นที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ จากนั้นเกษตรกรของสมาชิกในโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ บ้านเลอะกรา เข้าเฝ้าฯ ถวายรายงานผลการดำเนินงานโครงการผลิตและแปรรูปกาแฟอย่างครบวงจร ซึ่งทำให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มมากขึ้นสามารถเลี้ยงตนเองได้
จากนั้นเจ้าหน้าที่ศูนย์เรียนรู้การพัฒนาอมก๋อยและผู้แทนกรมป่าไม้ เฝ้าฯ ถวายรายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานตามพระราชกระแส เรื่องการส่งเสริมอาชีพและช่วยเหลือเกษตรกรโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ของบ้านทุ่งต้นงิ้วให้มีรายได้ เนื่องจากบ้านทุ่งต้นงิ้วอยู่ในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล การเดินทางค่อนข้างลำบาก ทำให้เกษตรกรประสบปัญหาการจำหน่ายผลผลิต ทางศูนย์เรียนรู้การพัฒนาอมก๋อยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงได้ดำเนินการส่งเสริมให้ความรู้เรื่องการแปรรูปมะขามป้อมตากแห้ง รวมทั้งการแปรรูปกาแฟ แบบ Dry process coffee แก่เกษตรกร และรับซื้อผลผลิตของชาวบ้าน เพื่อนำมาจำหน่าย ทำให้เกษตรกรมีรายได้ ปัจจุบันโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ตามพระราชดำริ ดำเนินการในพื้นที่ 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดน่าน เลย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และจังหวัดตาก