การอบรมหลักสูตรการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชุมารี (หลักสูตรขั้นพื้นฐาน) สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์
วันที่ 28 มีนาคม พ.ศ. 2565 คสธ. จัดอบรมหลักสูตรการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (หลักสูตรขั้นพื้นฐาน) ให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้รับผิดชอบงานโครงการตามพระราชดำริ และบุคลากรทางการศึกษา สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) พื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ สพป.ขอนแก่น เขต 3 , สพป. บุรีรัมย์ เขต 2 และเขต 4, สพป.ศรีสะเกษ เขต 1, สพป.สกลนคร เขต 1, สพป.หนองคาย เขต 1, สพป.บึงกาฬ, สพป.หนองบัวลำภู เขต 1 และเขต 2, สพป.อำนาจเจริญ, สพป.อุดรธานี เขต 1,2,3 และเขต 4, สพป.อุบลราชธานี เขต 3 และ สพป.เลย เขต 2 รวมจำนวน 50 โรงเรียน มีผู้เข้าร่วมอบรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ 118 คน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมมีความรู้ความเข้าใจถึงแนวคิดและหลักการทรงงานโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ การดำเนินงานภายใต้แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ฉบับที่ 5 ปี 2560–2569 (แผน กพด.) การติดตามและประเมินผล การบริหารจัดการโครงการให้เป็นไปตามเป้าหมายของแผน รวมถึงทบทวนและให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานโครงการตามพระราชดำริได้อย่างถูกต้อง โดยมีนายอภิสิทธิ์ พึ่งพร ผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นประธานเปิดการอบรม
ในปีการศึกษา 2564 มีโรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริ สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 50 โรงเรียน เป็นโรงเรียนที่เปิดสอนถึงชั้นประถมศึกษา 33 โรง และโรงเรียนขยายโอกาส 17 โรง มีนักเรียนในพื้นที่เป้าหมาย จำนวน 9,049 คน โรงเรียนดำเนินกิจกรรมภายใต้แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ฉบับที่ 5 (พ.ศ. 2560–2569) ส่งผลให้นักเรียนกลุ่มเป้าหมายได้รับโอกาสในการศึกษาที่สูงขึ้น มีภาวะโภชนาการที่ดี มีความรู้และทักษะด้านการประกอบอาชีพ และมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์สืบทอดวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเอง