การอบรมหลักสูตรการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชุมารี (หลักสูตรขั้นพื้นฐาน) ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา สังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์
วันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2565 คสธ. จัดอบรมหลักสูตรการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (หลักสูตรขั้นพื้นฐาน) ให้แก่ผู้บริหารสถานศึกษา ครูผู้รับผิดชอบงานโครงการตามพระราชดำริ และบุคลากรทางการศึกษา ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา สังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ในพื้นที่จังหวัด เชียงราย น่าน แพร่ พะเยา ลำปาง และจังหวัดศรีสะเกษ รวมจำนวน 70 โรงเรียน มีผู้เข้าร่วมอบรมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ จำนวน 141 รูป/คน ทั้งนี้เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมมีความรู้ความเข้าใจถึงแนวคิดและหลักการทรงงานโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ การดำเนินงานภายใต้แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ฉบับที่ 5 ปี 2560–2569 (แผน กพด.) การติดตามและประเมินผล การบริหารจัดการโครงการให้เป็นไปตามเป้าหมายของแผน รวมถึงทบทวนและให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้เข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเอง เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานโครงการตามพระราชดำริได้อย่างถูกต้อง โดยมีนายอภิสิทธิ์ พึ่งพร ผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นประธานเปิดการอบรม
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงรับทราบถึงปัญหาด้านโภชนาการ และสุขภาพอนามัย การจัดการศึกษา ตลอดจนโอกาสในการศึกษาของสามเณร จึงได้ทรงอุปถัมภ์กิจกรรมในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา มาตั้งแต่ต้นปีการศึกษา 2547 ในพื้นที่จังหวัดน่าน โดยดำเนินโครงการพัฒนาการศึกษาสามเณร ในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา และได้ขยายงานเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ในปีการศึกษา 2564 มีโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ในโครงการตามพระราชดำริ จำนวน 70 แห่ง ในพื้นที่จังหวัด เชียงราย น่าน แพร่ พะเยา ลำปาง และจังหวัดศรีสะเกษ มีนักเรียนจำนวนทั้งสิ้น 6,068 รูป นอกจากนี้ยังทรงติดตามผลการดำเนินงานโครงการในโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาอย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งถวายคำแนะนำและความช่วยเหลือ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ทรงพบ ซึ่งส่งผลให้งานมีความก้าวหน้า เด็กและเยาวชนรวมถึงประชาชนที่อยู่ในเขตบริการการศึกษาของโรงเรียน ได้รับโอกาสเพิ่มมากขึ้นและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น