การฝึกอบรมพัฒนาผู้ปฏิบัติงานโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์
วันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2565 คสธ.จัดการฝึกอบรมพัฒนาผู้ปฏิบัติงานโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ให้แก่เจ้าหน้าที่ป่าไม้และครูกศน. ผู้รับผิดชอบงานโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จำนวน 152 คน ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ เพื่อให้ผู้เข้าอบรมมีความรู้ ความเข้าใจ เกี่ยวกับพระราชดำริ และแนวทางการดำเนินงานโครงการ รวมทั้งมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับป่าและการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อให้สามารถนำไปปฏิบัติงานโครงการได้ โดยมีนายอภิสิทธิ์ พึ่งพร ผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นประธานเปิดการอบรม และนางศิราณี อิ่มสุวรรณ์ ที่ปรึกษาโครงการตามพระราชดำริ ได้ร่วมบรรยายเรื่องพระราชดำริและแนวคิดการดำเนินงานโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ นอกจากนี้ยังมีวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาบรรยายให้ความรู้ผ่านระบบออนไลน์ อาทิ เรื่อง ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับธรรมชาติของป่าและกฎหมาย โดยนายพัฒน์พงษ์ สมิตติพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานโครงการพระราชดำริและกิจการพิเศษ กรมป่าไม้, การจัดการเรียนรู้เพื่อเสริมสร้างศักยภาพในการสร้างป่า สร้างรายได้ของชุมชน โดย ดร.วัชรีวรรณ กันเดช ผู้อำนวยการกลุ่มส่งเสริมกิจการการศึกษาและเครือข่าย สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย , แนวทางและตัวอย่างความสำเร็จของชุมชน โดยรองศาสตราจารย์บำเพ็ญ เขียวหวาน อาจารย์ประจำสาขาวิชาเกษตรศาสตร์และสหกรณ์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้ดำเนินงานโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ มาตั้งแต่ปี 2556 โดยมีพระราชประสงค์เพื่อให้เด็ก เยาวชน และคนในชุมชน ร่วมกันฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไม้ ให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้ และมีรายได้เสริมจากการปลูกไม้ป่าร่วมกับพืชเศรษฐกิจ ด้วยการปลูกไม้หลายๆ ระดับ หลายๆ ชนิด มีทั้งไม้เรือนยอดสูงลดหลั่นกันลงมา ปัจจุบันมีการดำเนินงานโครงการในพื้นที่จังหวัดน่าน เลย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และจังหวัดตาก มีพื้นที่ดำเนินการรวม 42 อำเภอ 158 ตำบล 956 ชุมชน มีสมาชิกเข้าร่วม 19,890 ครัวเรือน และมีพื้นที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 71,786 ไร่