อุทยานธรรมชาติวิทยา ตามพระราชดำริ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
“…งานที่เรียกว่าอนุรักษ์ธรรมชาตินั้น ก็ทำให้นักเรียนมีโอกาสได้ศึกษารู้ถึงสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติว่าจะมีประโยชน์อย่างไรกับเรา และในเรื่องของสภาพแวดล้อมนั้น จะเห็นได้ว่าปัจจุบันนี้มีความเดือดร้อนต่างๆ มากขึ้น เช่น อาจจะน้ำท่วมหรือว่าน้ำแล้งกระทันหันนั้น ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะว่าในเรื่องของพืชธรรมชาติ ป่าไม้ หรือดินถูกทำลายไป เพราะฉะนั้นถ้าเราศึกษาให้ดีถึงเรื่องพวกนี้ หาวิธีแก้ไข ก็จะสามารถทำให้ต่อไปเราได้รักษาสมบัติของตนเองเอาไว้ได้…”
พระราชดำรัส
วันอังคารที่ 25 เมษายน พ.ศ. 2538
ความเป็นมา
จากการเสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามความก้าวหน้าโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในโรงเรียนและทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ทุรกันดารหลายครั้ง ทรงพบว่าทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในหลาย ๆ พื้นที่ถูกทำลายและเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะพื้นที่ป่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยและทรงเห็นถึงความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมไว้ จึงมีพระราชดำริให้โรงเรียนจัดกิจกรรมตั้งแต่พุทธศักราช 2530 เป็นต้นมาเพื่อให้เด็กและเยาวชนมีความรู้ความเข้าใจสภาพธรรมชาติ เกิดความรักและร่วมกันดูแลรักษาต่อไป
และเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไปยังพื้นที่อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ในพุทธศักราช 2538 ทรงพบว่า สุดเขตแดนด้านตะวันตกของอำเภอสวนผึ้งเป็นเทือกเขาตะนาวศรี ซึ่งเป็นพรมแดนธรรมชาติระหว่างไทยกับพม่า ภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นป่าเขา มีความหลากหลายทางกายภาพและชีวภาพ อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวอยู่ไม่ไกลจากกรุงเทพมหานคร จึงมีพระราชดำริให้ดำเนินโครงการอุทยานธรรมชาติวิทยาขึ้น ด้วยมีพระราชประสงค์เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้สภาพธรรมชาติวิทยาสำหรับเด็กและเยาวชน และประชาชน จะได้เกิดความรัก หวงแหน และร่วมกันรักษาทรัพยากรธรรมชาติไว้ต่อไป
พื้นที่ดำเนินการ
โครงการอุทยานธรรมชาติวิทยามีพื้นที่ดำเนินงาน 132,905 ไร่ ครอบคลุม 12 หมู่บ้านในตำบลสวนผึ้งและตำบลตะนาวศรี อำเภอสวนผึ้ง มีสำนักงานตั้งอยู่ที่หมู่ 7 บ้านห้วยผาก ตำบลสวนผึ้ง บนพื้นที่ประมาณ 47 ไร่ อยู่ในการกำกับดูแลของโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ภายใต้การสนับสนุนของศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.)
ภารกิจ
โดยส่งเสริมและสนับสนุนให้นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญ จากมหาวิทยาลัยและองค์กรต่าง ๆ เข้ามาสำรวจ และศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสภาพธรรมชาติของพื้นที่ องค์ความรู้ที่ได้นำมาจัดทำเป็นฐานข้อมูลด้านทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อเผยแพร่ให้เด็ก เยาวชน และประชาชนต่อไป
ในแต่ละปีจะมีผลงานวิจัยเกิดขึ้นประมาณ 5-10 เรื่อง ตัวอย่างเช่น
- พรรณไม้มากมาย
- พันธุ์ที่พบใหม่ในพื้นที่บริเวณเขากระโจม ได้รับพระราชทานชื่อว่าชมพูราชสิริน
- ปลาเฉพาะถิ่น บางพันธุ์ใกล้จะสูญพันธุ์
- ความหลากหลายของพันธุ์ไผ่
- นิเวศของเห็ดโคน
- ผึ้งชันโรง
- พันธุ์กล้วยไม้ป่าและสัตว์สะเทือนน้ำสะเทือนบก
การฝึกอบรม เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจสภาพทางธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้แก่เด็กและเยาวชนไม่ต่ำกว่า 300 คนต่อปี โดยจัดกิจกรรมค่ายเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รูปแบบกิจกรรมมีทั้งแบบเต็มวัน, ค่ายพักแรม 3 วัน 2 คืน
ค่ายนักอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้
ระยะเวลา 3 วัน เพื่อให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจ เกิดจิตสํานึก รักและหวงแหนในทรัพยากรป่าไม้ สร้างเครือข่ายในการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ในพื้นที่ มีการใช้ทรัพยากรป่าไม้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจัดกิจกรรมผจญภัยสู่ห้องเรียนธรรมชาติ
ค่ายรักษ์สิ่งแวดล้อม
ระยะเวลา 2 วัน เพื่อเสริมสร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม โดยจัดกิจกรรมผ่านฐานการเรียนรู้ ในพื้นที่อุทยานธรรมชาติวิทยา
การส่งเสริมให้ประชาชนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ อาทิ
การตั้งกลุ่มเครือข่ายอาสาสมัครป้องกันและควบคุมไฟป่า
มีมากกว่า 200 คน นอกจากจะช่วยกันเฝ้าระวังและป้องกันไฟป่าแล้ว ยังช่วยกันดูเรื่องการบุกรุกพื้นที่ ลักลอบตัดไม้ ล่าสัตว์
การจัดกิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมร่วมกับประชาชนในพื้นที่และองค์กรเอกชน
เช่น การปลูกป่า การทำเหมืองฝาย เวทีวิชาการ การแจกจ่ายพันธุ์ไม้ให้ประชาชนไปปลูก การศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับโรงเรียน ชุมชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน
การส่งเสริมอาชีพวนเกษตรให้ประชาชนในท้องถิ่น เพื่อสร้างรายได้เสริมไปพร้อม ๆ กับการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมด้วย เช่น การปลูกกล้วย เห็ด หน่อไม้ ผักหวาน สมุนไพร ฝาง น้ำผึ้ง เป็นต้น
ความก้าวหน้าของการดำเนินงาน
ปัจจุบันอุทยานธรรมชาติวิทยามีแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติวิทยา และแหล่งเรียนรู้อื่นๆ อาทิ
ศาลาข้อมูลธรรมชาติวิทยา
ศาลาข้อมูลธรรมชาติวิทยา เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลทั่วไปของอุทยานธรรมชาติวิทยาทั้งข้อมูลทางสังคมศาสตร์ ข้อมูลทางกายภาพ และข้อมูลชีวภาพที่สํารวจพบในพื้นที่ โดยนํามาจัดทําเป็นนิทรรศการ สิ่งตีพิมพ์ นอกจากนี้ยังจัดแสดงนิทรรศการเกี่ยวกับพระราชกรณียกิจ ในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ด้านการพัฒนาคุณภาพชีวิตในถิ่นทุรกันดาร
เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ
เส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ มี 2 เส้นทาง เป็นแหล่งศึกษาดูงานของประชาชนโดยทั่วไป เพื่อเผยแพร่ความรู้ และเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมการศึกษาธรรมชาติ นอกห้องเรียนของนักเรียน
เส้นทางแรก เริ่มจากอาคารสำนักงานผ่านธารน้ำร้อนบ่อคลึงแล้ววนกลับมายังอาคารสำนักงาน ระยะทาง 750 เมตร ใช้เวลาในการเดิน 1 ชั่วโมง
เส้นทางที่สอง เริ่มจากอาคารสำนักงานเดินเลาะน้ำตก ผ่านธารน้ำร้อนบ่อคลึง แล้ววนกลับมายังอาคารสำนักงาน ระยะทางประมาณ 6 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดิน 3 ชั่วโมง ตลอดเส้นทางจะได้พบ แหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับพืชพรรณ สมุนไพรท้องถิ่น ลักษณะทางกายภาพของดิน น้ำตกเก้าโจน ธารน้ำร้อนบ่อคลึง โป่งเทียม พรรณสัตว์ต่างๆ หอดูนก การจัดการไฟป่า เป็นต้น
โรงอบพลังงานแสงอาทิตย์
เพื่อรับผลผลิตจากกลุ่มสมาชิกวนเกษตร เช่น กล้วย มาแปรรูปเป็นกล้วยตากด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นจุดสาธิตให้ประชาชนที่สนใจมาเรียนรู้ด้วย
จุดสาธิตการทำเกษตรอินทรีย์ เพาะพันธุ์ไม้ ระบบการอนุรักษ์ดินและน้ำ
ร้านค้าจำหน่ายของที่ระลึกและผลิตภัณฑ์ของชุมชน
ข่าวกิจกรรม
วันที่ 12 สิงหาคม พ.ศ. 2567
กิจกรรมเฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา วันที่ 12 สิงหาคม 2567
วันที่ 7-8 สิงหาคม พ.ศ. 2567
การจัดกิจกรรม “ค่ายรักษ์ป่า รักษ์น้ำ ในบ้านเรา” รุ่นที่ 4 ให้แก่นักเรียนโรงเรียนชุมชนบ้านบ่อ และโรงเรียนบ้านตะโกล่าง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี
31 กรกฎาคม – 1 สิงหาคม 2567
การจัดกิจกรรม “ค่ายรักษ์ป่า รักษ์น้ำ ในบ้านเรา” รุ่นที่ 3 ให้แก่นักเรียนโรงเรียนอนุบาลสวนผึ้ง และโรงเรียนบ้านห้วยผาก อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี
เอกสารเผยแพร่
รายงานการศึกษาวิจัย
รายงานการศึกษาวิจัยในพื้นที่อุทยานธรรมชาติวิทยา ตามพระราชดำริ ปีงบประมาณ 2565
ติดต่อ
อุทยานธรรมชาติวิทยา ตามพระราชดำริ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ที่อยู่ 254 หมู่ที่ 7 ตำบลสวนผึ้ง อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี 70180
โทรศัพท์ 0 3224 0917