ความเป็นมา
จากประสบการณ์ที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี) ทรงพบเห็นปัญหาความยากจน ความขาดแคลนอาหาร และสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม ส่งผลให้ประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มเด็กและเยาวชนขาดอาหาร สุขภาพอ่อนแอ และเจ็บป่วย ไม่สามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ดี จึงมีพระราชหฤทัยมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือเด็กและเยาวชนเหล่านั้นให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จึงทรงเริ่มงานโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันเป็นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2523 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เด็กนักเรียนสามารถผลิตอาหารด้วยตนเองโดยทำการเกษตรในโรงเรียน ทำให้ได้ผลผลิตที่สดสะอาด นำไปประกอบอาหารกลางวันที่มีคุณค่าทางโภชนาการ สะอาดและปลอดภัย ส่งผลให้นักเรียนมีโภชนาการและสุขภาพอนามัยที่ดี ผลพลอยได้ที่สำคัญคือนักเรียนได้รับความรู้ และทักษะที่สามารถนำไปใช้ในการดำรงชีวิตต่อไปได้
จนถึงปัจจุบันมีโรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริมากกว่า 800 โรงเรียนที่ดำเนินโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันมาอย่างต่อเนื่อง มีกิจกรรมหลากหลายและขอบเขตกว้างขวาง ทั้งด้านการผลิต เช่น การปลูกพืชผักและไม้ผล การเลี้ยงสัตว์ การประมง การปรับปรุงบำรุงดิน การชลประทาน เป็นต้น ด้านการประกอบอาหารด้วยผลผลิตทางการเกษตรที่ผลิตขึ้นในโรงเรียน และยังมีด้านการแปรรูปและถนอมอาหารโดยใช้ผลผลิตที่มีในโรงเรียนและ/หรือชุมชน
การเกษตรถือว่าเป็นรากฐานที่สำคัญยิ่งของสังคมไทย ก่อให้เกิดความมั่นคงทางอาหารทั้งระดับบุคคล ครอบครัว ชุมชน และประเทศ ในภาวะที่สถานการณ์ของโลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ทั้งสภาพภูมิอากาศ ทรัพยากรธรรมชาติเสื่อมโทรม การใช้สารเคมีในวงจรการผลิตทางการเกษตรที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของมนุษย์และทรัพยากรธรรมชาติ การอุบัติขึ้นของโรคระบาดใหม่ ดังเช่นโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจชะงักงัน เกิดความไม่แน่นอน ความไม่ปลอดภัย และความไม่มั่นคง ประกอบกับในสังคมปัจจุบันเด็กและเยาวชนขาดความรู้และทักษะในการทำเกษตร เนื่องจากผู้ปกครองหันไปประกอบอาชีพอื่น ๆ ในภาคบริการ รับจ้าง ค้าขาย มากขึ้น การให้คุณค่าต่อการทำเกษตรลดน้อยลง ซึ่งจะส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารและวิถีการดำรงชีวิตของประชาชนในระยะยาวต่อไป
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตระหนักว่า การปลูกฝังทัศนคติ เสริมสร้างความรู้ และพัฒนาทักษะที่เกี่ยวข้องกับการเกษตร มีความจำเป็นอย่างยิ่ง และควรเริ่มต้นตั้งแต่วัยเด็ก เพื่อให้เด็ก ครอบครัว ชุมชน และประเทศชาติ เกิดความมั่นคงทางอาหาร พึ่งพาตนเองและเป็นที่พึ่งแก่คนอื่นได้ต่อไป จึงมีพระราชดำริให้มีการจัดการเรียนการสอนขึ้น โดยนำโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันมาบูรณาการกับกลุ่มสาระวิชาอื่น ๆ นอกจากเด็กนักเรียนจะมีความรู้ ความเข้าใจในกลุ่มสาระวิชาต่าง ๆ แล้ว ยังสามารถเชื่อมโยงกับความรู้ทางการเกษตรควบคู่ไปกับการปฏิบัติจริง และยังช่วยให้ครูผู้สอนมีเครื่องมือทางเลือกในการจัดการเรียนรู้ เกิดประสิทธิผลการเรียนรู้ตามมาตรฐานการศึกษาที่กำหนดไว้
กรอบแนวคิดในการพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการ “เกษตรเพื่ออาหารกลางวัน”
การจัดกิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการ “เกษตรเพื่ออาหารกลางวัน” เป็นการนำกิจกรรมสำคัญของโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันที่โรงเรียนดำเนินการอยู่มากำหนดเป็นหัวข้อเรื่อง แล้วนำมาสร้างเป็นโจทย์คำถามหรือสร้างกิจกรรมการเรียนรู้ พร้อมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้ โดยให้เชื่อมโยงกับสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ในแต่ละกลุ่มสาระการเรียนรู้ เพื่อให้นักเรียนบรรลุตามตัวชี้วัดตามที่กำหนดไว้ในหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน (พ.ศ. 2551 และฉบับปรับปรุง พ.ศ. 2560) ควบคู่ไปกับการมีความรู้ ทักษะ และเจตคติที่ดีในเรื่องการเกษตรและโภชนาการ สามารถนำไปประกอบอาชีพต่อไปได้
การพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการ “เกษตรเพื่ออาหารกลางวัน” จะดำเนินการในระดับประถมศึกษา ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6
กลุ่มสาระการเรียนรู้ที่คัดเลือกมาใช้ในการพัฒนากิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการ “เกษตรเพื่ออาหารกลางวัน” มี 5 กลุ่มสาระการเรียนรู้ ได้แก่
1. ภาษาไทย
2. คณิตศาสตร์
3. วิทยาศาสตร์
4. ศิลปะ
5. ภาษาต่างประเทศ ได้แก่ ภาษาอังกฤษ
กิจกรรมสำคัญและสาระสำคัญของโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวันที่นำมาใช้ในการพัฒนาการจัดกิจกรรมการเรียนรู้บูรณาการ “เกษตรเพื่ออาหารกลางวัน” ในแต่ละชั้นปีมีดังนี้
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 การปลูกพืชผักและไม้ผล
พืชผักและไม้ผลที่นักเรียนบริโภคในชีวิตประจำวันมีมากมายหลายชนิด มีตั้งแต่ผักอายุสั้น ผักอายุยืน ผักเครื่องเครื่องปรุง ผักเถาเครือ สมุนไพร เห็ด ถั่วเมล็ดแห้ง และไม้ผลต่าง ๆ จึงจำเป็นต้องปลูกให้หลากหลาย สม่ำเสมอ และพอเพียง เพื่อให้มีผลผลิตบริโภคได้ตลอดทั้งปี
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 การเลี้ยงสัตว์
การเลี้ยงสัตว์ในโรงเรียนมีหลากหลายชนิด เช่น ไก่ เป็ด หมู และปลา เป็นต้น ผลผลิตที่ได้เช่น ไข่และเนื้อสามารถนำไปใช้ในการประกอบอาหารกลางวัน จึงจำเป็นต้องเลี้ยงให้หลากหลาย ดูแลให้อาหารและรักษาความสะอาดของโรงเรือนต่าง ๆ อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้มีผลผลิตที่ปลอดภัยบริโภคได้ต่อเนื่องตลอดทั้งปี
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 น้ำ
น้ำเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับสิ่งมีชีวิตทุกชีวิตไม่ว่าคน สัตว์ หรือพืช น้ำจึงเป็นทรัพยากรที่จำเป็นของทุกโรงเรียน ทั้งเพื่อการอุปโภคบริโภค เพื่อการเกษตร และการทำกิจกรรมอื่น ๆ ทุกคนจึงควรรู้จักการดูแลรักษาน้ำให้มีคุณภาพดี และมีลักษณะนิสัยในการใช้น้ำอย่างประหยัด
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 การแปรรูปและถนอมอาหาร
ผลผลิตทางการเกษตรที่นักเรียนผลิตได้ เมื่อนำมาถนอมและแปรรูปอาหารด้วยวิธีต่าง ๆ จะทำให้เก็บรักษาผลผลิตได้นานขึ้นหรือได้ผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ทำให้มีผลผลิตบริโภคนอกฤดูกาลหรือนำไปจำหน่ายเป็นรายได้ต่อไปได้
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ดินและปุ๋ย
ดินทำหน้าที่เป็นที่ให้รากพืชได้เกาะยึดเหนี่ยว เพื่อให้ลำต้นของพืชยืนต้นได้อย่างมั่นคง แข็งแรง ดินยังเป็นแหล่งให้ธาตุอาหารที่จำเป็นขณะที่พืชเจริญเติบโต การดูแลรักษาปรับปรุงบำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์จึงจำเป็นอย่างยิ่ง
ปุ๋ย หมายถึง สารหรือสิ่งที่เราใส่ลงไปในดิน เพื่อวัตถุประสงค์ให้ปลดปล่อยธาตุอาหารพืช โดยเฉพาะพวกไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม ที่พืชยังขาดอยู่ให้พืชได้รับอย่างเพียงพอ พืชสามารถเจริญเติบโตงอกงามดี และให้ผลิตผลสูงขึ้น
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 อาหารกลางวัน
อาหารกลางวันของโรงเรียน ส่วนหนึ่งมาจากผลผลิตทางการเกษตรที่นักเรียนผลิตได้ อีกส่วนหนึ่งซื้อมาจากท้องตลาด การเตรียมอาหารกลางวันต้องเตรียมให้ครบ 5 หมู่ มีคุณค่าทางโภชนาการ และสะอาดและปลอดภัยตามหลักสุขาภิบาล นอกจากจะทำให้นักเรียนอิ่มท้อง มีสมาธิในการเรียนหนังสือแล้ว อาหารกลางวันของโรงเรียนยังช่วยพัฒนานิสัยการกินและอนามัยส่วนบุคคล เสริมสร้างให้นักเรียนมีภาวะโภชนาการดีและสุขภาพแข็งแรง
ลักษณะของแผนการจัดการเรียนรู้และการนำไปใช้
การออกแบบแผนการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการ เป็นแผนที่มีความสอดคล้องกับการปฏิบัติในชีวิตประจำวันของนักเรียน แต่ละแผนการจัดการเรียนรู้เบ็ดเสร็จในตัว ใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง มีความยืดหยุ่น สามารถหยิบมาใช้เมื่อไหร่ก็ได้ อาจใช้ในการสอนจริงแทนแผนการจัดการเรียนรู้ที่สอนอยู่ปกติ เพียงแต่เนื้อหาในส่วนนี้จะมีความเชื่อมโยงกับโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน หรืออาจใช้ในการสอนเสริมก็ได้
ผู้ที่นำไปใช้ อาจเป็นครูผู้สอนหรือเป็นหน่วยสนับสนุนที่ไม่ใช่ครูผู้สอน ก็สามารถหยิบนำไปใช้สอนเด็กนักเรียนได้