การอบรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัดเย็บแปรรูปผ้าพื้นเมือง แก่กลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านไบก์ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ในโครงการส่งเสริมอาชีพ ตามพระราชดำริฯ
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินงานพัฒนากลุ่มอาชีพประชาชนในถิ่นทุรกันดาร มาตั้งแต่ปี 2538 โดยมีพระราชประสงค์ให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถพึ่งพาตนเองได้ กลุ่มพัฒนาอาชีพบ้านไบก์ อำเภอเมือง จังหวัดยะลา ในโครงการส่งเสริมอาชีพ ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2550 มีสมาชิก 15 คน เป็นผู้ปกครองนักเรียนโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเฉลิมพระเกียรติ ฯ 50 พรรษา และชาวบ้านในพื้นที่ ซึ่งส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและรับจ้างทั่วไป โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเงินกองทุนหมุนเวียน และอาคารให้แก่สมาชิกรวมกลุ่มกันตัดเย็บแปรรูปผลิตภัณฑ์ในปี 2551 ปัจจุบันกลุ่มส่งผลิตภัณฑ์จำหน่ายร้านภูฟ้าและในพื้นที่ การดำเนินงานที่ผ่านมากลุ่มขาดความรู้และทักษะในการออกแบบผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับผ้าปาเต๊ะที่ใช้เป็นวัสดุในการผลิต จึงทำให้รูปแบบขาดความหลากหลาย ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด โครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (คสธ.) จึงได้จัดอบรมพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัดเย็บแปรรูปผ้าพื้นเมือง ระหว่างวันที่ 22-26 พฤษภาคม พ.ศ. 2566 ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเฉลิมพระเกียรติฯ 50 พรรษา จังหวัดยะลา เพื่อให้สมาชิกมีความรู้และทักษะการออกแบบผลิตภัณฑ์ตัดเย็บผ้าปาเต๊ะและผ้าบาติกพิมพ์ลายให้สินค้ามีความสวยงามประณีต ทันสมัย และสามารถนำไปจำหน่ายได้ตรงกับความต้องการของลูกค้าได้
ในการอบรมครั้งนี้ มีผู้ช่วยศาสตราจารย์กมลภัทร์ รักสวน และ ดร.พีรยา สระมาลา จากคณะอุตสาหกรรมสิ่งทอ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เป็นวิทยากรในการอบรม โดยบรรยายให้ความรู้และให้สมาชิกฝึกปฏิบัติในเรื่องของการจับคู่สี การเลือกผ้าปาเต๊ะ การเลือกวัสดุอุปกรณ์ให้เหมาะสมกับสีผ้า การทำแพทเทิร์น การตัดเย็บ การวางลายผ้า การวางตำแหน่งโลโก้ รวมทั้งให้สมาชิกฝึกปฏิบัติการปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์กระเป๋าใส่โทรศัพท์ ถุงผ้าสตรอเบอร์รี่ กระเป๋าคาดอก และกระเป๋าสะพาย
สนใจสั่งซื้อผลิตภัณฑ์
นางมากีย๊ะ ตาเล๊ะ รองประธานกลุ่ม โทร 088-3975702
Facebook โครงการส่งเสริมอาชีพ ตามพระราชดำริฯ https://web.facebook.com/PsProject2020