การประชุมโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในพื้นที่ทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในพื้นที่ทุรกันดาร ในสถานศึกษาโครงการตามพระราชดำริ เพื่อให้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการสมวัย มีความฉลาดทางอารมณ์อยู่ในเกณฑ์ดี พร้อมต่อการเรียนรู้ ด้วยการพัฒนาพ่อแม่ผู้ดูแลเด็กให้มีทักษะการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย และได้มีพระราชกระแส เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ที่ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านทีวะเบยทะ ตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ให้ดำเนินการขยายผลโครงการครอบคลุมพื้นที่ที่มีโรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริตั้งอยู่ทั่วประเทศ โดยโครงการเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 และมีแผนการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
โดยวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2566 พันเอกหญิง รองศาสตราจารย์ นันทพร วีรวัฒน์ ที่ปรึกษาโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นประธานการประชุมการดำเนินงานโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในพื้นที่ทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี โดยมีผู้บริหารและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน จากกรมสุขภาพจิต กองบัญชาการตำรวจตระเวนตระเวนชายแดน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมส่งเสริมการเรียนรู้ สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร และผู้รับผิดชอบงานสุขภาพจิตและพัฒนาการเด็กระดับพื้นที่ เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม คสธ. และร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) โอกาสนี้แพทย์หญิงดุษฎี จึงศิรกุลวิทย์ ผู้อำนวยการกองบริหารระบบบริการสุขภาพจิต ได้บรรยายสรุปผลการดำเนินงาน ในปีการศึกษา 2564-2565 ในโรงเรียนโครงการตามพระราชดำริพื้นที่เป้าหมาย สังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมส่งเสริมการเรียนรู้ และสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร รวม 180 แห่ง โดยในปีการศึกษา 2565 มีเด็กปฐมวัยและครอบครัวเข้าร่วมโครงการ 1,744 ครอบครัว จากพื้นที่ 35 จังหวัด 64 อำเภอ รวม 96 โรงเรียน ซึ่งผลจากที่ครอบครัวเข้าร่วมกิจกรรมโดยใช้โปรแกรมการส่งเสริมพัฒนาการและสร้างวินัยเชิงบวกโดยครอบครัวมีส่วนร่วม Preschool Parenting Program:Triple-P ครบทั้ง 4 ครั้ง พบว่าเด็กปฐมวัยมีพัฒนาการสมวัย และมีความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) เพิ่มขึ้น รวมทั้งผู้ปกครองมีทักษะการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยในปีการศึกษา 2566 แพทย์หญิงหทัยชนนี บุญเจริญ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต ได้ชี้แจงถึงแผนการดำเนินงาน มีพื้นที่เป้าหมาย 142 โรงเรียน โรงเรียนละ 30 ครอบครัว ครอบคลุมเด็ก รวม 4,350 คน โดยเพิ่มพื้นที่เป้าหมายโรงเรียนในสังกัดกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และมีแผนที่จะดำเนินงานครอบคลุมในสถานศึกษาเป้าหมายให้ครบทุกแห่งภายในปี 2569 นอกจากนี้สำหรับเด็กปฐมวัยที่มีพัฒนาการล่าช้า เดินทางยากลำบาก มีโครงการฟื้นฟูการศึกษาทางไกลสำหรับเด็กพัฒนาการล่าช้าในถิ่นทุรกันดาร ใช้ระบบ Tele special education ช่วยให้เด็กได้รับการพัฒนาสมวัย อีกทั้งยังทำให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพและสามารถขยายผลได้