สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 (นางอั้งไซอิม แซ่ตั้ง อุปถัมภ์) อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 15.00 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 5 ธันวาคม 2542 (นางอั้งไซอิม แซ่ตั้ง อุปถัมภ์) อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โรงเรียนเปิดสอนระดับชั้นอนุบาล ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 มีนักเรียน 228 คน สังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 33 โดยทรงติดตามการดำเนินงานของโรงเรียนนี้เป็นครั้งที่ 7 และเป็นครั้งที่ 1,112 ที่เสด็จฯ ทรงเยี่ยมโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน
โอกาสนี้ทรงเปิดอาคารเรียน โดยมูลนิธิ ดร.สุมิตร เลิศสุมิตรกุล ทูลเกล้าฯ ถวายงบประมาณการก่อสร้าง เป็นอาคารเรียน 2 ชั้น ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 2560 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่ออาคารว่า “อาคาร ดร.สุมิตร เลิศสุมิตรกุล” โอกาสนี้พระราชทานพระราชวโรกาสให้นายสมบัติ เลิศสุมิตรกุล ประธานมูลนิธิ ดร.สุมิตร เลิศสุมิตรกุล พร้อมด้วยคณะ เข้าเฝ้าฯ ถวายรายงาน การปรับปรุงต่อเติมห้องเรียนชั้นล่างเพิ่มอีก 4 ห้อง เนื่องจากห้องเรียนไม่เพียงพอกับจำนวนนักเรียน คาดว่าจะใช้ในการเรียนการสอนได้ในภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2566
ในการนี้ทอดพระเนตรผลการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ สำหรับด้านการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยนักเรียน พบนักเรียนมีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ มีภาวะเตี้ย รวมทั้งภาวะอ้วน แก้ไขปัญหาโดยจัดอาหารเสริมนมและไข่ไก่ให้นักเรียนนำกลับไปรับประทานที่บ้านทุกวัน และให้ความรู้เรื่องโภชนาการและการควบคุมอาหารแก่ผู้ปกครองและนักเรียน รวมทั้งส่งเสริมให้นักเรียนออกกำลังกายเป็นประจำ
สำหรับการส่งเสริมด้านการศึกษา โรงเรียนมีนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ สำเร็จการศึกษาแล้ว 21 คน และที่กำลังศึกษาอยู่ระดับอุดมศึกษาและมัธยมศึกษา จำนวน 2 คน ส่วนนักเรียนที่จบการศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 สามารถเข้าศึกษาต่อระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ได้ทุกคน สำหรับการเรียนการสอนวิชาภาษาไทยของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีการสอนเรื่องสระเอีย โดยใช้สื่อการสอนบัตรภาพ บัตรคำ และให้นักเรียนทำใบงานเพื่อฝึกฝนการสะกดคำ แต่งประโยค และอ่านออกเสียง ทำให้นักเรียนซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ สามารถอ่านและสื่อสารภาษาไทยได้มากขึ้น
โอกาสนี้ทรงติดตามผลการดำเนินโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัย ในพื้นที่ทุรกันดาร ตามพระราชดำริฯ ทอดพระเนตรกิจกรรมห้องสมุด กิจกรรมห้องพยาบาล กิจกรรมสหกรณ์นักเรียน ฝึกให้นักเรียนดำเนินกิจกรรมร้านค้า และออมทรัพย์ นักเรียนได้เรียนรู้และฝึกปฏิบัติการทำบันทึกบัญชี และไปทัศนศึกษาดูงานด้านสหกรณ์
ส่วนการส่งเสริมทักษะอาชีพ จัดการสอนนักเรียนทำข้าวเกรียบข้าวปุ๊ก ซึ่งเป็นขนมพื้นบ้านของภาคเหนือที่ทำขึ้นในช่วงปีใหม่ ทำจากข้าวเหนียว นำมาตำทำเป็นแผ่นกลม ตากแดดจนแห้งนำมาทำเป็นข้าวเกรียบเพื่อถนอมอาหารเก็บไว้ได้นาน นอกจากนี้ยังนำผลผลิตการเกษตรของโรงเรียนที่มีมากมาแปรรูปถนอมอาหาร เป็นไข่เค็ม ผักกาดดองฮ่อ และกิมจิผักกาดขาว นักเรียนสามารถต่อยอดนำความรู้ไปประกอบอาชีพได้ ส่วนกิจกรรมอนุรักษ์วัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่น มีปราชญ์ชาวบ้านในชุมชนบ้านแกน้อย ซึ่งมีความรู้เรื่องการรักษาและบำบัดอาการเจ็บป่วยด้วยวิธีกัวซา มาถ่ายทอดความรู้และฝึกสอนนักเรียนเพื่อสืบทอดภูมิปัญญาท้องถิ่น โดยการทำกัวซาสามารถช่วยขับสารพิษออกมาทางผิวหนัง ทำให้ระบบการหมุนเวียนของเลือดในร่างกายดีขึ้น รวมทั้งแก้ปวดเมื่อยตามร่างกายและอาการชาตามกล้ามเนื้อได้ เป็นต้น
สำหรับโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน มีพื้นที่ 5 ไร่ ได้ฝึกให้นักเรียนลงมือปฏิบัติจริงในการปลูกพืชผัก ไม้ผล ถั่วเมล็ดแห้ง เลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ ไก่พันธุ์พื้นเมือง เป็ดพันธุ์ไข่ สุกร เลี้ยงปลานิลและปลาดุก ผลผลิตนำมาประกอบอาหารกลางวันให้นักเรียนรับประทาน ส่วนผลผลิตถั่วเมล็ดแห้ง และไม้ผลไม่เพียงพอ โรงเรียนจึงแก้ปัญหาโดยมอบเมล็ดพันธุ์ถั่วอะซุกิ ให้ผู้ปกครองนำไปปลูก แล้วนำผลผลิตแบ่งส่วนให้โรงเรียน นอกจากนี้ยังได้ปลูกกล้วยน้ำว้า เงาะ มะละกอ และมะม่วงเพิ่มมากขึ้น โรงเรียนยังได้น้อมนำพระราชกระแสให้โรงเรียนปลูกไม้ผลเมืองหนาว โดยปลูกต้นอะโวคาโด และต้นพลับ สามารถเก็บผลผลิตได้ในปีการศึกษา 2566 นอกจากนี้ยังมีการขยายผลสู่ชุมชน โดยโรงเรียนเป็นศูนย์บริการความรู้ ให้ผู้ปกครองและคนในชุมชนเข้ามาเรียนรู้การปลูกผักสวนครัว นำความรู้ไปประกอบอาชีพเสริมสร้างรายได้ และปลูกผักไว้ใช้บริโภคในครัวเรือน เพื่อลดรายจ่าย