สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงติดตามการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์
วันที่ 23 สิงหาคม พ.ศ. 2566 เวลา 08.30 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปทรงติดตามการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริ ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ โรงเรียนเปิดทำการสอนมาตั้งแต่ปี 2555 ในระดับชั้นอนุบาล ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ปัจจุบันมีนักเรียน 226 คน พื้นที่รับผิดชอบของกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 21 โดยทรงติดตามการดำเนินงานของโรงเรียนนี้เป็นครั้งที่ 3 และทรงเยี่ยมโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน เป็นครั้งที่ 1,113
โอกาสนี้ทอดพระเนตรกิจกรรม 100 ปี ชาตกาล ท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน กรมส่งเสริมการเกษตร กรมหม่อนไหม โครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จัดกิจกรรมนี้ขึ้น เพื่อรำลึกถึงและเชิดชูเกียรติคุณ ท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ อดีตราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ณ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ โดยมีการจัดกิจกรรม ประกอบด้วย 1) การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโรงเรียน โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานงบประมาณจำนวน 3,130,000 บาท สำหรับการก่อสร้างอาคารเรียนชั้นเดียว ขนาด 4 ห้องเรียน พร้อมอุปกรณ์ และลานกีฬา รวมทั้งปรับปรุงห้องพยาบาล 2) โครงการรณรงค์การอ่านออกเขียนได้ จัดกิจกรรมการอบรมครูภาษาไทย และการประกวดแข่งขันทักษะภาษาไทยของนักเรียนในโรงเรียนโครงการตามพระราชดำริ สังกัดกองกำกับการตำรวจตระเวนชายแดนที่ 21 ได้แก่ กิจกรรมการวาดภาพ คัดลายมือ เขียนเรียงความ การอ่านเอาเรื่อง และการกล่าวสุนทรพจน์ มีนักเรียนเข้าร่วมกิจกรรม 115 คน 3) การจัดทำหลักสูตรท้องถิ่นของโรงเรียน เรื่องการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากรังไหมและการทอผ้า โดยนำมาจัดการเรียนการสอนนักเรียนในปีการศึกษา 2566 4) กิจกรรมการขยายผลสู่ชุมชน ในเขตบริการของโรงเรียน โดยจัดตั้งกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน จำนวน 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มบ้านโพธิ์ทอง และบ้านร่มราษฎร์ มีสมาชิกรวม 100 คน รวมทั้งจัดตั้งกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหม “กลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกหม่อนเลี้ยงไหม รวมใจ 169” และกลุ่มทอผ้าไหม เพื่อให้คนในชุมชนมีอาชีพที่มั่นคง รวมทั้งสืบทอดอนุรักษ์ภูมิปัญญาด้านหม่อนไหม ปัจจุบันมีสมาชิก 60 คน นอกจากนี้ยังจัดการประกวดเกษตรกรต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียง ประกวดการสาวไหม ประเภทเส้นไหมน้อย และประกวดผ้าไหมลายอัตลักษณ์ ลายขอโคม 5 และผ้าพื้นยกดอก และ 5) การจัดห้องเกียรติยศ ท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ เพื่อเผยแพร่คุณงามความดี และสืบทอดเจตนารมณ์ของท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ เกี่ยวกับการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในพื้นที่ชนบท ด้วยการใช้ภูมิปัญญาไทยในการทอผ้าและปลูกหม่อนเลี้ยงไหม
ในโอกาสนี้ทรงเปิดอาคารเรียนพระราชทาน พระราชทานรางวัลแก่นักเรียน และเกษตรกรที่ชนะเลิศการประกวดการแข่งขันกิจกรรมดังกล่าว รวม 14 รางวัล พร้อมทั้งทอดพระเนตรผลงานนักเรียน การแข่งขันทักษะภาษาไทย การดำเนินกิจกรรมของกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชนตามพระราชดำริ บ้านโพธิ์ทอง และบ้านร่มราษฎร์ ซึ่งทำการปลูกผักสวนครัว มันสำปะหลัง ทำไร่อ้อย ทำนา เลี้ยงสัตว์ และนำผลผลิตทางการเกษตรมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า ทำให้กลุ่มมีรายได้เสริม และสามารถพึ่งพาตนเองได้ ส่วนกิจกรรมของกลุ่มปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และทอผ้าไหม มีการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมแบบครบวงจร สมาชิกได้รับการฝึกอบรมเพิ่มทักษะการเลี้ยงไหม และการฟอกย้อมสีเส้นไหม เพื่อให้สามารถผลิตผ้าไหมได้มีคุณภาพ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานงบประมาณการจัดซื้อวัสดุ อุปกรณ์ในการดำเนินกิจกรรมด้านหม่อนไหมด้วย
การเสด็จฯ ทรงเยี่ยมโรงเรียนครั้งนี้ ทรงติดตามงานนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ ที่กำลังศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาและอุดมศึกษา รวม 7 คน ทอดพระเนตรกิจกรรมห้องพยาบาล กิจกรรมสหกรณ์นักเรียน ฝึกให้นักเรียนดำเนินกิจกรรมร้านค้า ออมทรัพย์ และจัดทัศนศึกษาดูงานเรียนรู้ด้านสหกรณ์ ทอดพระเนตรโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในพื้นที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ ซึ่งระหว่างวันที่ 25 พฤศจิกายน 2565 – 28 กุมภาพันธ์ 2566 กรมสุขภาพจิต โดยบุคลากรสาธารณสุขและคณะครู ได้จัดกิจกรรมฝึกทักษะการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยของพ่อ แม่ ผู้ปกครอง ตามโปรแกรม Triple-P มีครอบครัวเข้าร่วมกิจกรรมจำนวน 30 ครอบครัว ประกอบด้วยเด็กนักเรียนระดับชั้นอนุบาล 2 – 3 และผู้ปกครอง ในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ โดยได้รับการสนับสนุนชุดของเล่นพระราชทาน จำนวน 2 ชุด หลังจากดำเนินกิจกรรม Triple-P ครบ 4 ครั้งแล้ว ผลการประเมินพบว่าเด็กมีพัฒนาการตามวัย มีความฉลาดทางอารมณ์ และพ่อ แม่ ผู้ปกครองมีทักษะการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยเพิ่มมากขึ้น
ส่วนโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ฝึกให้นักเรียนลงมือปฏิบัติจริงในการปลูกผัก ไม้ผล ทำกิจกรรมปศุสัตว์ และทำกิจกรรมประมง ผลผลิตเพียงพอต่อความต้องการและนำประกอบอาหารให้นักเรียนรับประทาน ขยายผลสู่ชุมชน โดยเป็นศูนย์บริการความรู้ด้านการเกษตร ถ่ายทอดความรู้ให้คนในชุมชนนำไปสร้างรายได้เสริม และทำกิจกรรมเกษตรไว้บริโภคในครัวเรือนเพื่อลดค่าใช้จ่าย