สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในพื้นที่ทุรกันดาร ในสถานศึกษาโครงการตามพระราชดำริ เพื่อให้เด็กปฐมวัยมีพัฒนาการสมวัย มีความฉลาดทางอารมณ์อยู่ในเกณฑ์ดี พร้อมต่อการเรียนรู้ ด้วยการพัฒนาพ่อแม่ผู้ดูแลเด็กให้มีทักษะการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัย และได้มีพระราชกระแส เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม พ.ศ. 2563 ที่ศูนย์การเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านทีวะเบยทะ ตำบลแม่ตื่น อำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก ให้ดำเนินการขยายผลโครงการครอบคลุมพื้นที่ที่มีโรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริตั้งอยู่ นอกจากจะช่วยแก้ปัญหาของเด็กในชุมชนห่างไกลแล้ว ยังเป็นตัวอย่างแก่พื้นที่อื่น ๆ ทั่วประเทศด้วย โดยโครงการเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปีการศึกษา 2564 ครอบคลุมพื้นที่ที่มีสถานศึกษาในโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริฯ ตั้งอยู่ทั่วประเทศ และมีแผนที่จะดำเนินงานครอบคลุมในสถานศึกษาเป้าหมายให้ครบทุกแห่งภายในปี 2569
โดยวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2567 พันเอกหญิง รองศาสตราจารย์ นันทพร วีรวัฒน์ ที่ปรึกษาโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เป็นประธานการประชุมการดำเนินงานโครงการส่งเสริมพัฒนาการเด็กปฐมวัยในพื้นที่ทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี พร้อมด้วยนายอภิสิทธิ์ พึ่งพร ผู้อำนวยการโครงการส่วนพระองค์สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ผู้บริหาร และผู้แทนจากสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ สถาบันพัฒนาการเด็กราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต กองบัญชาการตำรวจตระเวนตระเวนชายแดน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมส่งเสริมการเรียนรู้ สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุม คสธ. และร่วมประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์)
สำหรับผลการดำเนินงานโครงการฯ ในปีการศึกษา 2564-2566 มีสถานศึกษาในโครงการตามพระราชดำริ เข้าร่วมโครงการ 5 สังกัด ประกอบด้วย สังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กรมส่งเสริมการเรียนรู้ สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น รวมทั้งสิ้น 322 แห่ง มีเด็กปฐมวัยที่เข้าร่วมโครงการแล้ว จำนวน 5,870 คน โดยในปีการศึกษา 2566 มีเด็กปฐมวัยและครอบครัวเข้าร่วมโครงการ 3,042 ครอบครัว รวม 142 โรงเรียน ซึ่งผลจากการที่ครอบครัวเข้าร่วมกิจกรรมโดยใช้โปรแกรมฝึกทักษะการเลี้ยงดูเด็กปฐมวัยไทย The Thai Preschool Parenting Program (The Thai Triple-P) ครบทั้ง 4 ครั้ง พบว่าเด็กปฐมวัยมีพัฒนาการสมวัย และมีความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) เพิ่มมากขึ้น โดยในปีการศึกษา 2567 มีแผนการดำเนินงานในพื้นที่เป้าหมาย ทั้ง 5 สังกัด จำนวน 129 โรงเรียน นอกจากนี้ยังมีการติดตามและประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาของเด็กที่เข้าร่วมโครงการ โครงการฟื้นฟูการศึกษาพิเศษทางไกลสำหรับเด็กปฐมวัยในพื้นที่ทุรกันดาร รวมถึงจัดฝึกอบรมให้กับครูผู้รับผิดชอบอย่างต่อเนื่องและจัดทำคู่มือ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และสร้างความเข็มแข็งให้กับครู เพื่อให้การดำเนินงานมีประสิทธิภาพต่อไป