089

“…สร้างป่า สร้างรายได้ เป็นแนวทางการพัฒนาการฟื้นฟูป่าไม้ เพื่อให้ประชาชนสามารถอยู่ร่วมกับป่า และมีรายได้เสริมจากการปลูกพืชโดยที่ไม่ทำลายป่าไม้ โดยการปลูกป่าร่วมกับพืชเศรษฐกิจ มีการปลูกไม้หลายๆ ระดับ หลายๆ ชนิด มีทั้งไม้เรือนยอดสูงลดหลั่นกันลงมา นอกจากจะทำให้ชาวบ้านมีรายได้แล้ว ยังทำให้มีป่าไม้เพิ่มขึ้นอีกทางหนึ่งด้วย…”

พระราชดำรัส ในการประชุมสัมมนา “รักษ์ป่าน่าน”
วันที่ 10 มีนาคม พ.ศ. 2557 ณ ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการ
เครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ตำบลผาสิงห์ อำเภอเมืองน่าน จังหวัดน่าน

ความเป็นมา

ปี 2556 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชดำริให้ดำเนินงานโครงการ “สร้างป่า สร้างรายได้” ซึ่งเป็นวิธีการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ด้วยการปลูกไม้ป่าดั้งเดิมของพื้นที่ให้เป็นไม้ประธาน ผสมผสานกับการปลูกพืชเกษตรหรือไม้เศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่คนท้องถิ่น ตามลำดับชั้นเรือนยอดตั้งแต่ชั้นบน ชั้นรอง ไม้พุ่มและไม้ผิวดิน ทำให้เกิดความหลากหลายของขนาด และพันธุกรรมพืช เกิดความอุดมสมบูรณ์เลียนแบบธรรมชาติ โดยเริ่มเป็นโครงการนำร่องในพื้นที่จังหวัดน่าน และเลย ก่อนขยายไปยังจังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน และตาก

forest001
forest0017
forest005

แนวทางการพัฒนา

   แนวทางการดำเนินงานโครงการสร้างป่า สร้างรายได้


1. วิเคราะห์พื้นที่เลือกชนิดพืชและรูปแบบในการปลูก
   เลือกชนิดพืชปลูกของโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ต้องคำนึงถึงสภาพสังคมพืชเดิม ปลูกพืชให้เหมาะสม เช่น สภาพเดิมเป็นป่าเต็งรัง ควรปลูก

    • ไม้เรือนยอดชั้นบน
      • ไม้ป่า เช่น ยาง เต็ง รัง ประดู่ แดง พะยอม เป็นต้น
      • ไม้เกษตร/เศรษฐกิจ เช่น ขนุน มะม่วง มะขาม ลำไย เป็นต้น

    • ไม้เรือนยอดชั้นรอง
      • ไม้ป่า เช่น มะขามป้อม สมอไทย ตะแบก มะกอกป่า สะเดา เพกา เป็นต้น
      • ไม้เกษตร/เศรษฐกิจ เช่น ไผ่เลี้ยง ไผ่บง พุทรา แค มะรุม เป็นต้น

    • ไม้พุ่ม
      • ไม้ป่า เช่น ผักหวานป่า ปรง มะเม่า เหมือดโลด แสลงใจ เป็นต้น
      • ไม้เกษตร/เศรษฐกิจ เช่น หม่อน ชะอม กล้วย น้อยหน่า มะละกอ ดีปลี เป็นต้น

    • ไม้ผิวดิน
      • ไม้ป่า เช่น กลอย บุก มันป่า เอื้องหมายนา กวาวเครือ ย่านาง เป็นต้น
      • ไม้เกษตร/เศรษฐกิจ เช่น ไพล กระชาย ขมิ้น ขิง ข่า มันเทศ เป็นต้น

รูปแบบการปลูกป่า ต้องสอดคล้องตามสภาพภูมิประเทศ รวมทั้งความถี่ในการปลูกต้องเหมาะสมกับ ธรรมชาติของพืชแต่ละชนิด เช่น

    • การปลูกตามพื้นที่ราบ
      • ปลูกเป็นแถวเป็นแนวเป็นแถบ สลับกันระหว่างเรือนยอดชั้นบน ชั้นรอง ไม้พุ่มและไม้ผิวดิน
      • ปลูกแบบสมรม สลับกันไปเป็นกลุ่มๆ ทั้งเรือนยอดชั้นบน ชั้นรอง ไม้พุ่มและไม้ผิวดิน

    • การปลูกในพื้นที่ลาดชัน
      • ปลูกตามแนวระดับเส้นลาดชัน สลับกันระหว่างเรือนยอดชั้นบน ชั้นรอง ไม้พุ่มและไม้ผิวดิน
      • ปลูกแบบสมรม เป็นกลุ่มๆ ทั้งเรือนยอดชั้นบน ชั้นรอง ไม้พุ่มและไม้ผิวดิน

2. สร้างความรู้ ความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับแนวคิด วิธีการดำเนินงานโครงการ รับสมัครชาวบ้าน มีการรวมกลุ่ม วางแผนการปลูกตามหลักวิชาการ รวมทั้งจดทะเบียนสมาชิกให้ถูกตามกฎหมาย การอบรมให้ความรู้ การศึกษาดูงาน สมาชิกต้องมีส่วนรวมในทุกขั้นตอน เป็นงานที่หวังผลระยะยาว

3. ส่งเสริมการจำหน่ายและสร้างมูลค่าเพิ่ม ให้มีกิจกรรมที่ผสมผสาน บูรณาการ ต่อยอดจากผลผลิตของโครงการ เช่น การแปรรูป การถนอมอาหาร การตลาด เพื่อให้ชาวบ้านมีรายได้ เป็นต้น

4. สนับสนุนการดำเนินงาน มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วย เช่น

    • หน่วยหลัก
      • กรมป่าไม้ เป็นพี่เลี้ยงชุมชน 486 แห่ง และให้คำแนะนำเกี่ยวกับการจัดการพื้นที่ให้สอดคล้องกับกฎระเบียบ พันธุ์ไม้ป่า
      • สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย เป็นพี่เลี้ยงชุมชน 496 แห่ง และอบรมให้ความรู้ เสริมสร้างจิตสำนึก เพื่อนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

    • หน่วยสนับสนุน
      • กรมส่งเสริมการเกษตร ให้คำแนะนำเกี่ยวกับพืชเศรษฐกิจ พันธุ์ไม้เกษตร การแปรรูป
      • กรมพัฒนาที่ดิน ให้คำแนะนำ และสนับสนุนเกี่ยวกับการปรับปรุงบำรุงดิน
      • กรมวิชาการเกษตร ให้คำแนะนำเกี่ยวกับนวัตกรรมต่างๆ
      • กรมการปกครอง อำนวยการ รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนาต่อยอด
      • มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ให้ความรู้และคำแนะนำทางวิชาการ

    • ภาคเอกชน เกี่ยวกับการแปรรูป การตลาด

 

 

 

 

 

 

 

 

 

    คู่มือปฏิบัติงานโครงการสร้างป่า สร้างรายได้ ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี 




พื้นที่ดำเนินการ

โครงการสร้างป่า สร้างรายได้ มีพื้นที่ดำเนินงานในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดน่าน เชียงใหม่ ตาก แม่ฮ่องสอน และจังหวัดเลย มีพื้นที่ดำเนินการรวม 42 อำเภอ 158 ตำบล 956 ชุมชน มีสมาชิกเข้าร่วม 19,890 ครัวเรือน และมีพื้นที่เข้าร่วมโครงการ จำนวน 71,786 ไร่

การพระราชทานความช่วยเหลือ

   พระราชทานเงินสำหรับจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์และปรับปรุงอาคารแปรรูปผลิตภัณฑ์


ปี 2563

  • พระราชทานเงินให้แก่กลุ่มบ้านนาพึง ตำบลนาพึง อำเภอนาแห้ว จังหวัดเลย สำหรับจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ในการนำไปปรับปรุงระบบน้ำแรงดันสูง ด้วยการขุดบ่อให้มีความลึกขึ้น เพื่อเพิ่มปริมาณน้ำให้เพียงพอ 
  • พระราชทานเงินให้แก่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสินค้าเกษตร ตำบลพะวอ อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ในการปรับปรุงอาคารแปรรูปผลิตภัณฑ์ (สบู่บุก) และอุปกรณ์ที่ใช้ในการแปรรูปผลิตภัณฑ์ 

หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

กรมป่าไม้

nfe-2

กรมส่งเสริมการเรียนรู้

กรมการปกครอง

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

กรมส่งเสริมการเกษตร

กรมวิชาการเกษตร

กรมพัฒนาที่ดิน