ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ
เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 90 พรรษา 12 สิงหาคม 2565
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
พระราชกรณียกิจ… นำสู่ …. ความมั่นคงด้านอาหาร ตราบจนปัจจุบัน
ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจมากมาย เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดีขึ้นและประเทศชาติมีความเจริญก้าวหน้า หนึ่งในพระราชกรณียกิจนั้นคือการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งถือว่าเป็นฐานทรัพยากรอาหารทางธรรมชาติของประเทศ เกิดแหล่งผลิตอาหารกระจายทั่วประเทศ สร้างความมั่นคงด้านอาหารให้แก่ประชาชนและประเทศชาติสืบมาจนทุกวันนี้
“…เราเรียกแผ่นดินนี้ว่า “แผ่นดินแม่” เพราะแผ่นดินนี้เป็นที่เกิด และเลี้ยงดูคนไทยมากว่า 700 ปี ควรที่เราทั้งหลายจะบำรุงรักษาแผ่นดินให้คงความอุดมสมบูรณ์ไว้ ถ้าเรามัวแต่ตักตวงผลประโยชน์จากผืนดิน เช่น เอาแต่ตัดไม้ขายจนป่าสูญสิ้นไป ใช้ยาฆ่าแมลงและฆ่าวัชพืชจนดินเสียหมด หรือทิ้งของเสียสิ่งปฏิกูลลงไปในแม่น้ำลำคลองโดยไม่ห่วงใยแผ่นดินเลย
…สักวันหนึ่งแผ่นดินแม่คงตายจากเราไปโดยไม่มีวันหวนกลับคืนมา คงเหลือไว้ซึ่งพื้นดินที่แห้งแล้ง สิ้นสภาพจากการเป็นดินที่จะทำการเพาะปลูกได้…”
พระราชดำรัส 11 สิงหาคม 2535
โครงการป่ารักน้ำ
เริ่มดำเนินการครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2525 ณ บ้านถ้ำติ้ว อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร ซึ่งต่อมาได้ขยายไปยังท้องถิ่นต่าง ๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงมีพระราชดำรัสถึงการดำเนินงานของ ‘โครงการป่ารักน้ำ’ เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2527 ความตอนหนึ่งว่า
“…ได้ใช้เงินของมูลนิธิศิลปาชีพและทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ไปเช่า และซื้อที่ดินจากชาวบ้านตั้งเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ติดต่อเชื่อมโยงกับหมู่บ้านใหญ่ และให้ราษฎรที่หมู่บ้านใหญ่เป็นผู้ตัดสินเองว่าคนยากจนในหมู่บ้านของเขาคนใดบ้างที่สมควรได้รับการสนับสนุนให้มาอยู่ในหมู่บ้านป่ารักน้ำ
…โดยที่สมาชิกฝ่ายชายหัวหน้าครอบครัว มีอาชีพปลูกป่าไม้ เพาะกล้าไม้ต่าง ๆ ซึ่งเป็นต้นไม้โตเร็วทั้งนั้น จุดมุ่งหมายแรกคือ มุ่งให้รากของต้นไม้รักษาความชุ่มชื้นในแผ่นดิน จุดที่สองคือ ต้องการให้ชาวบ้านมีไม้สำหรับเป็นเชื้อเพลิงในการหุงหาอาหาร นับว่าเป็นการช่วยตัวเอง โดยไม่ต้องไปซื้อหาจากข้างนอก
…จุดที่สาม ในเมื่อต้นไม้อายุได้ 3 ปีขึ้นไป สามารถใช้ไม้นั่นซ่อมแซมหรือปลูกเพิ่มเติมที่อยู่อาศัยได้ นอกจากการปลูกป่าและเพาะกล้าต้นไม้แล้ว ก็ยังสนับสนุนให้ผู้ชายเลี้ยงสัตว์ มีบ่อปลา บ่อกุ้ง เป็นช่างไม้ ช่างปั้น ในขณะที่ภรรยาเป็นสมาชิกทอผ้า ตัดเย็บเสื้อผ้า ทอผ้าห่ม ทอผ้าฝ้ายปนไหมพรม ทำนวมสำหรับขายและสำหรับใช้ในหน้าหนาว
…ด้วยประการเช่นนี้ เราทั้งหลายที่ได้รับความสุขความสมบูรณ์จะสบายใจได้ว่า เรามีส่วนช่วยกันจัดสังคมที่สามารถเลี้ยงตัวเองเป็นอิสระ…”
โครงการบ้านเล็กในป่าใหญ่
เป็นโครงการในลักษณะเดียวกับโครงการป่ารักน้ำ ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำเนินการในพื้นที่ภาคเหนือ โดยทรงขอ ‘ป่าเสื่อมโทรม’ ที่ไม่เหลือสภาพความเป็นป่าอีกแล้วจากกรมป่าไม้ เพื่อนำมาจัดสรรพื้นที่ให้กับคนยากจนที่ไม่มีที่ทำกินได้เข้าไปอยู่อาศัย เพื่อแก้ปัญหาการตัดป่า ถางป่า เผาป่า เพื่อทำไร่เลื่อนลอยไปเรื่อย ๆ
ทรงให้ผู้เชี่ยวชาญด้านการเกษตรผลัดกันมาสอนการทำนาแบบขั้นบันได การปลูกพืชผักสวนครัว การปลูกไม้ผลแบบผสมผสาน รวมถึงทดลองปลูกพืชเมืองหนาวให้กับ ‘คนในบ้านเล็ก’ ที่อยู่อาศัยใน ‘ป่าใหญ่’ ได้ปลูกพืชเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ มีระบบหมุนเวียนในการปลูก
โครงการฟาร์มตัวอย่าง (บนพื้นที่ราบ)
เกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2540 ณ บ้านขุนแตะ ตำบลดอยแก้ว อำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ โดยทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ‘พระราชทานโอกาส’ ให้กับคนที่ ‘ไม่มีใครให้โอกาส’ อย่างชาวเขาที่เลิกยาเสพติดได้แล้ว และมาของานทำ ให้เป็นคนงานในฟาร์มตัวอย่าง ดำเนินการปลูกพืชผัก พันธุ์ไม้ผลชนิดต่าง ๆ และเลี้ยงปศุสัตว์ เช่น เป็ด ไก่ หมู ปลา เป็นต้น
ต่อมาก็เกิด ‘โครงการฟาร์มตัวอย่าง’ ในพื้นที่อื่น ๆ ตามมาอีกมากมาย ทั่วทุกภาคของประเทศไทย โดยฟาร์มตัวอย่างแต่ละแห่งนั้น นอกจากจะเป็นแหล่งผลิตอาหารที่ปลอดสารพิษให้แก่ชุมชนนั้น ๆ และชุมชนใกล้เคียง อย่างที่มีพระราชดำรัสว่า นี่แหละคือ ‘Food Bank’ แล้ว ฟาร์มตัวอย่าง ยังเป็นแหล่งจ้างแรงงานของชาวบ้านที่ยากจน ทำให้พวกเขามีรายได้ไปเลี้ยงครอบครัว และยังเป็นแหล่งให้วิชาความรู้แบบ ‘learning by doing’ เพื่อให้คนงานในฟาร์มฯ หรือผู้สนใจนำไปดำเนินการในที่ดินของตนเองได้ รวมถึงยังเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ที่ช่วยกระจายรายได้ให้กับชุมชนอีกทางหนึ่ง
พื้นที่จัดตั้งโครงการฟาร์มตัวอย่างนั้น บางส่วนทรงจัดซื้อด้วยพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ บางส่วนชาวบ้านน้อมเกล้าฯ ถวาย และบางส่วนกรมป่าไม้อนุญาตให้ใช้พื้นที่
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ยังมีพระราชดำรัสเรื่องการจ้างคนงานในฟาร์มตัวอย่าง เมื่อทรงทราบว่าผู้ดำเนินโครงการฯ จัดจ้างคนงานไว้น้อย เพราะเกรงว่าหากจ้างคนงานจำนวนมาก ขณะที่ยังมีผลผลิตทางการเกษตรน้อย จะทำให้ ‘ขาดทุน’ ไว้ว่า
“…การที่ทำให้คนยากคนจนในชุมชนนั้น ๆ มีงานทำ พวกเขามีรายได้ มีเงินไปเลี้ยงครอบครัว ไม่ต้องไปเป็นโจร ไม่ต้องไปเป็นขโมย ไม่ต้องไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ไม่ไปตัดไม้ทำลายป่า ไม่ไปเผาป่า
…ชุมชนนั้น ๆ ก็จะมีความสุข ความสงบ ตำบลนั้น อำเภอนั้น จังหวัดนั้น ๆ ก็จะมีความสุข ความสงบ ประเทศชาติก็จะมีความสุข ความสงบ นี่แหละคือ ‘กำไรของแผ่นดิน’…”
โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง (บนพื้นที่สูง)
ขณะที่ ‘ฟาร์มตัวอย่าง’ ดำเนินงานบนพื้นราบ บนพื้นที่สูง สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ก็มีพระราชดำริให้จัดตั้ง ‘โครงการสถานีพัฒนาการเกษตรที่สูง ตามพระราชดำริ’ ขึ้น โดยมีรูปแบบการดำเนินงานคล้ายคลึงกับโครงการฟาร์มตัวอย่าง บนพื้นราบทุกประการ แต่ทรงเน้นให้ดำเนินการในพื้นที่ที่ป่าต้นน้ำลำธารถูกบุกรุกทำลายอย่างหนัก โดยทรงขอพื้นที่เหล่านี้จากชาวไทยภูเขาที่บุกรุกป่า จ้างพวกเขามาทำงานเพื่อให้มีรายได้พอเพียงแก่อัตภาพ นอกจากจะช่วยหยุดยั้งการหักล้างถางป่าแล้ว ยังช่วยให้ชาวเขา ‘รู้วิธี’ สร้างแหล่งอาหารอย่างยั่งยืน โดยไม่ทำร้ายแผ่นดินอีกด้วย
โครงการฟื้นฟูทรัพยากรพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำจืดของไทย
“…ในแม่น้ำลำคลอง พวกเราก็ทิ้งของเสีย
…ทิ้งลงไปทำให้ของที่หายากอยู่แล้ว คือน้ำจืดก็เสียไป น้ำเน่า แม่น้ำเจ้าพระยาก็เน่าไปเยอะ และการเน่าของแม่น้ำเจ้าพระยาก็หมายถึงการสูญเสีย สูญสิ้นพันธุ์ปลาต่าง ๆ ไปหลายสายพันธุ์
…ซึ่งอันนี้น่าตกใจมาก เพราะว่าพวกเราก็รับประทานปลา ปลาดูจะเป็นอาหารที่ถูกที่สุดสำหรับคนยากคนจน เราก็ปล่อยให้ปลาสูญไปหลายสายพันธุ์แล้ว…”
พระราชดำรัส วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2542
ด้วยพระราชปณิธานแน่วแน่ที่จะทรงฟื้นฟูแม่น้ำลำคลองและพันธุ์สัตว์น้ำให้กลับมาอุดมสมบูรณ์ เป็น ‘อู่น้ำ’ คุณภาพดีสำหรับอุปโภคบริโภค และเป็น ‘แหล่งผลิตอาหารโปรตีน’ ให้คนไทยอย่างยั่งยืนต่อไป ดังนั้นใน พ.ศ. 2533 จึงมีพระราชดำริดำเนินโครงการฟื้นฟูทรัพยากรพันธุ์ปลาและสัตว์น้ำจืดของไทยขึ้นมา โดยมีกรมประมงรับสนองพระราชดำริ สามารถเพาะเลี้ยงปลาไทยได้เกือบทุกชนิด (ตาม ‘กาพย์เห่เรือชมปลา’ ของเจ้าฟ้าธรรมธิเบศร์ – เจ้าฟ้ากุ้ง)
พันธุ์ปลาที่เพาะได้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นำไปปล่อยในแม่น้ำลำคลองตามธรรมชาติ เพื่อคืนความหลากหลายของชนิดปลาสู่แหล่งน้ำ ซึ่งจะช่วยรักษาสภาพความสมดุลตามธรรมชาติของแหล่งน้ำ และยังเป็นการเพิ่มผลผลิตของปลาในแหล่งน้ำ ทดแทนสัตว์น้ำที่ถูกทำลายไป อันจะนำมาซึ่งการใช้ทรัพยากรสัตว์น้ำอย่างยั่งยืนตลอดไป
“…พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็สอนข้าพเจ้าเสมอว่า ป่าชายเลนนี้ให้ช่วยกันระวังรักษา เพราะป่าชายเลนนี้ เหมือนสถานอนุบาลของสัตว์น้ำเล็ก ๆ ตอนที่เขายังเล็ก ๆ ไม่สามารถเลี้ยงตัวได้
…การที่มีป่าชายเลนนี้ ก็ทำให้เขาเลี้ยงตัวได้ แล้วรอดชีวิตเป็นปลาใหญ่ขึ้นมาเป็นกุ้งใหญ่ ปูใหญ่ เจริญเติบโต แล้วก็เป็นอาหารของมนุษย์ต่อไป
…แต่ถ้าไม่มีป่าชายเลนแล้ว พันธุ์ปลา พันธุ์กุ้ง พันธุ์ปู ก็คงจะค่อย ๆ สูญไป…”
พระราชดำรัส วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2546
โครงการปะการังเทียม
ทรงเล่าถึง ‘โครงการปะการังเทียม’ ไว้เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2548 ความตอนหนึ่งว่า
“…ประชาชนก็มาคอยดักพบแล้วบอกว่า ท่านเดี๋ยวนี้นะพวกเรายิ่งยากจนขึ้นทุกที เพราะว่าออกเรือออกไปในท้องทะเลหาปลา จะตกปลาสำหรับมารับประทานและสำหรับขายก็ไม่มีปลา พวกเรามีแต่เรือ ชนิดที่เรียกว่าเล็กไม่ใช่เรือใหญ่ เป็นชาวประมงทั่ว ๆ ไปที่ยังยากจน
…เคราะห์ดีจำได้ที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ รับสั่งว่า ประเทศไทยมีนักวิชาการต่าง ๆ ที่เก่งมากเก่งเหลือเกิน ข้าพเจ้าก็เลยเชิญนักวิชาการต่าง ๆ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2546 มาร่วมกัน
…ทางประมงก็บอกว่าลองดู ลองทรงทิ้งปะการังเทียมไป ซึ่งสามารถจะช่วยให้มีปลาในที่ตื้น ๆ
…หลังจากการทิ้งปะการังเทียมไปแล้วประมาณสักเกือบเดือน ก็ลองส่งเจ้าหน้าที่ประดาน้ำลงไปถ่ายภาพ ก็พบว่าปลานานาชนิดมาชุมนุมกันเป็นจำนวนมากที่ปะการังเทียม
…เช่น ปลาช่อนทะเล ปลาเก๋า ปลากะพงชนิดต่าง ๆ
…ราษฎรก็มาหาข้าพเจ้า มาเล่าให้ฟังว่า จากที่ไม่สามารถจะจับปลาได้ และรายได้ไม่พอเลี้ยงครอบครัว เดี๋ยวนี้จับปลาได้มาก มีรายได้เดือนละกว่า 1 หมื่นบาท น่าปลื้มที่สุด…”
โครงการฟาร์มทะเลตัวอย่าง
เริ่มดำเนินการเมื่อ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2551 ณ ตำบลบางแก้ว อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี
“…ฟาร์มทะเลตัวอย่างนี้ จะเพาะเลี้ยงสัตว์ทะเลและพืชทนเค็มนานาพันธุ์ เพื่อให้ชาวประมงและผู้สนใจได้ใช้เป็นแหล่งศึกษาและเรียนรู้ และนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นต่อไป และยังเป็นที่ที่ช่วยให้คนมีงานทำเพิ่มขึ้นด้วย
…ซึ่งข้าพเจ้าหวังว่า ต่อไปจะช่วยเพิ่มปริมาณสัตว์ทะเล และเป็นอาหารให้กับประชาชนได้…”
พระราชดำรัส 11 สิงหาคม 2553
ที่มา
- http://www.rdpb.go.th/th/Projects
- สมาคมโภชนาการแห่งประเทศไทย ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี. สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ กับการอนุรักษ์ฐานทรัพยากรอาหาร. พ.ศ. 2555
- สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. ประมวลพระราชดำรัส สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่พระราชทานในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา. พ.ศ. 2548