ถุงยังชีพเพื่อการศึกษาพระราชทาน

“…จากรายงานเห็นว่าถุงยังชีพการศึกษาที่แจกจ่ายไปนั้นเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์แล้วก็ช่วยพัฒนาความรู้และทักษะทางวิชาการและการงานอาชีพ ตลอดจนพัฒนาภาวะโภชนาการและสุขภาพอนามัยให้นักเรียนได้ในระดับหนึ่ง แต่ที่ทำนี่ก็ยังยากที่ไม่สามารถให้ทุกคนได้ ก็พยายามให้มากที่สุดในโครงการของเรา นอกจากเงินที่มีอยู่เองก็มีหลายคนที่ช่วยบริจาค ถือว่าเป็นงานที่เราช่วยกัน รวมทั้งท่าน รมช. ก็ช่วยบริจาคด้วย…”

ทรงบรรยาย วันจันทร์ที่ 19 ตุลาคม พ.ศ. 2563

ความเป็นมา

การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2562 ส่งผลกระทบต่อระบบการศึกษา เกิดการหยุดชะงักของกระบวนการเรียนรู้และการพัฒนาศักยภาพของเด็กเนื่องจากการปิดสถานศึกษาและเลื่อนเปิดเทอม แม้กระทรวงศึกษาธิการจะพยายามให้สถานศึกษาจัดการศึกษาในหลาย ๆ รูปแบบ แต่ก็ไม่สามารถครอบคลุมเด็กได้ทุกคน

ด้วยพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงห่วงใยเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะเด็กในโรงเรียนในโครงการพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ (โครงการ กพด.) ที่อยู่ตามแนวชายแดน ในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล ที่ยังขาดความพร้อมและโอกาสเข้าถึงระบบการศึกษาด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีจึงพระราชทานแนวทางในการช่วยเหลือเด็กและเยาวชนเหล่านี้ ดังปรากฏในพระราชกระแส

“…โรงเรียนไม่สามารถเปิดเทอมได้ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2563 เด็กต้องอยู่ที่บ้าน และเด็กเราไม่มีคอมพิวเตอร์ ไม่มีอินเตอร์เน็ต ให้ใช้แนวทางถุงยังชีพเพื่อการศึกษาเหมือนตอนน้ำท่วม และใช้สื่อ 60 พรรษา…”

“…ให้โรงเรียนดูเรื่องอาหารการกินของเด็กนักเรียน ใช้วัตถุดิบที่มีในโรงเรียน…”

“…สื่อ 60 พรรษา ไม่น่าจะพอ น่าจะสอนอะไรที่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนเราเคยสอน ที่สำคัญ คือ สหกรณ์ บัญชี การวางแผนการเงิน งานฝีมือ และวิชาชีพ…”

พระราชกระแส วันอังคารที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2563

“…ให้สอนชาวบ้านเพาะถั่วงอกกินและขาย หาตลาดให้ด้วย
เป็นอีกโครงการที่ทำได้ทั้งชัยพัฒนาและโครงการฯ…”

พระราชกระแส วันพุธที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2563

จากพระราชกระแสข้างต้น จึงเป็นที่มาของ ถุงยังชีพเพื่อการศึกษาพระราชทาน ที่สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้นมา แล้วนำไปแจกจ่ายให้แก่นักเรียนในโรงเรียนในโครงการ กพด.

   จุดมุ่งหมาย


เพื่อให้เด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดารได้มีโอกาสพัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างต่อเนื่องไม่หยุดชะงักภายใต้ภาวะวิกฤตนี้ ทั้งในด้านความรู้และทักษะทางวิชาการ ที่ทรงเน้นในเรื่องภาษาไทย ให้อ่านคล่อง เขียนคล่องไม่ลืม วิชาคณิตศาสตร์ที่เด็กต้องฝึกคำนวณหัดทำแบบฝึกหัดมาก ๆ  ทักษะทางการงานอาชีพที่เป็นพื้นฐานคือ การเกษตร เด็กจะได้ฝึกทำอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะได้ผลผลิตไว้บริโภคบ้างแล้ว ยังได้ออกกำลังกลางแจ้ง เป็นการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้อาจเป็นรายได้เสริมให้กับครอบครัว การจดบันทึก การทำบัญชีรับ-จ่าย เป็นเรื่องที่ต้องฝึกควบคู่กันไปด้วย

ด้วยเหตุนี้ ภายในถุงยังชีพเพื่อการศึกษาพระราชทาน จึงประกอบด้วยสิ่งของพระราชทาน 8 รายการ ดังนี้

   ชุดกิจกรรมเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย


ใบงาน จากชุดการจัดการเรียนรู้ โครงการจัดทำสื่อ 60 พรรษา เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กลุ่มสาระการเรียนรู้ภาษาไทย ในการเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติ และทบทวนความรู้ด้วยตนเองที่บ้าน ตามที่ได้รับมอบหมายควบคู่กับการเรียนรู้จากครูผู้สอน

   ชุดกิจกรรมเรียนรู้กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์


แบบฝึกหัด จากชุดการจัดการเรียนรู้ โครงการจัดทำสื่อ 60 พรรษา เฉลิมพระเกียรติ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี กลุ่มสาระการเรียนรู้คณิตศาสตร์ ในการเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติ และทบทวนความรู้ด้วยตนเองที่บ้าน ตามที่ได้รับมอบหมายควบคู่กับการเรียนรู้ จากครูผู้สอน

   เครื่องเขียน


ประกอบด้วย สมุด สมุดวาดเขียน ดินสอ ดินสอสี สีเทียน ไม้บรรทัด กบเหลาดินสอ และยางลบ ให้นักเรียนใช้ในการเรียนรู้ ฝึกปฏิบัติ และทบทวนความรู้ด้วยตนเองที่บ้าน

   สื่อการเรียนรู้ เรื่อง โควิด 19 จำนวน 1 เล่ม


ให้นักเรียนมีความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) จะได้ปฏิบัติตนตามมาตรการเฝ้าระวังและป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ได้อย่างถูกต้อง

   หน้ากากผ้า จำนวน 2 ชิ้น


ให้นักเรียนใช้สวมใส่เมื่อเข้าร่วมกิจกรรมการเรียนรู้ หรือการปฏิบัติตนในชีวิตประจำวัน เป็นการป้องกันตนเองจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19)

วิธีใช้

  1. ล้างมือให้สะอาดก่อนใส่หน้ากากทุกครั้ง
  2. เวลาใส่ จับสายคล้องหูทั้งสองข้าง สวมคลุมจมูกและปาก ดึงขอบล่างให้คลุมใต้คาง
  3. เวลาถอด จับที่สายคล้องหู แล้วเอาออก ห้ามจับบริเวณหน้ากาก
  4. ล้างมือให้สะอาดหลังถอดหน้ากากทุกครั้ง
  5. ซักทำความสะอาดหน้ากากผ้า ดังนี้
        • ซักด้วยน้ำยาซักผ้าเด็ก สบู่ หรือผงซักฟอก ขยี้ให้ทั่วทั้งผืน และล้างน้ำสะอาด
        • ตากแดดให้แห้งสนิท หรือที่ที่มีลมโกรก อากาศถ่ายเทสะดวก

   เมล็ดถั่วเขียว และเอกสารวิธีการเพาะถั่วงอก จำนวน 1 ชุด


ให้นักเรียนเพาะถั่วงอก เพื่อเป็นอาหารในครัวเรือน และเรียนรู้และฝึกฝนทักษะทางด้านการเกษตรอย่างต่อเนื่อง

   เมล็ดพันธุ์ผัก 3–5 ชนิด จำนวน 1 ชุด


ให้นักเรียนปลูกพืชผักสวนครัวที่บ้าน เช่น ถั่วฝักยาว ข้าวโพด ผักบุ้ง มะเขือเทศ พริก แตงกวา เพื่อเป็นอาหารในครัวเรือน และเรียนรู้และฝึกฝนทักษะทางด้านการการเกษตรอย่างต่อเนื่อง

   สมุดบัญชีครัวเรือน จำนวน 1 เล่ม


ให้นักเรียนบันทึกบัญชีรับ-จ่ายของตนเองและครัวเรือนทุกวัน สรุปยอดเงินรายรับรายจ่ายประจำวันและประจำสัปดาห์ โดยครูจะช่วยวางแผนทางการเงินของครัวเรือน ลดค่าใช้จ่ายที่ฟุ่มเฟือย ประหยัด ออมเงิน รวมทั้งหารายได้เสริม

แนวทางการดำเนินงาน

จนถึงปัจจุบัน มีการดำเนินงานไปแล้ว 2 ช่วง ในแต่ละช่วง จะพระราชทานถุงยังชีพเพื่อการศึกษาให้โรงเรียนในโครงการตามพระราชดำริที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ทำให้ยังไม่สามารถเปิดการเรียนการสอนได้ตามปกติ เพื่อให้ครูสามารถจัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาศักยภาพของเด็กและเยาวชนโดยใช้ถุงยังชีพเพื่อการศึกษาพระราชทาน โดยครูนัดให้เด็กมารับที่โรงเรียนหรือบางแห่งครูจะนำไปแจกจ่ายให้เด็กที่บ้าน พร้อมทั้งมอบหมายงานและนัดหมายการส่งการบ้าน-ตรวจการบ้าน พร้อมกันนี้โรงเรียนบางแห่งได้จัดอาหารกลางวันไปแจกจ่ายให้นักเรียนพร้อมกันไปด้วย

   การดำเนินงานในช่วงที่ 1


ช่วงเลื่อนเปิดเทอมและเด็กต้องอยู่ที่บ้าน ระหว่างวันที่ 16 พฤษภาคม ถึง 30 มิถุนายน 2563

แจกจ่ายถุงยังชีพเพื่อการศึกษาพระราชทาน แก่นักเรียนในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ทั้งหมด จำนวน 10,200 ชุด

   การดำเนินงานในช่วงที่ 2


เป็นช่วงของการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด 19) ระลอกใหม่ เลื่อนการเปิดภาคเรียนที่หนึ่ง ปีการศึกษา 2564 เป็นวันที่ 14 มิถุนายน 2564

แจกจ่ายถุงยังชีพเพื่อการศึกษาพระราชทาน แก่นักเรียนในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-6 ทั้งหมด จำนวน 13,080 ชุด

   สำหรับสามเณร


เรียนที่โรงเรียนพระปริยัติธรรม ก็ไม่สามารถมาเรียนได้ ต้องอยู่ที่วัดที่จำพรรษา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดอุปกรณ์ทีวีและเครื่องรับสัญญานไปยังวัดที่จำพรรษา พร้อมทั้งหนังสือหลักสูตรบาลีไวยากรณ์และหลักสัมพันธ์ วิดีทัศน์การสอนบาลีไวยากรณ์ และวิดีทัศน์การสอนแปลพระธรรมบท เพื่อให้สามเณรได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาสามัญตามระบบ DLTV และศึกษาภาษาบาลี ณ วัดที่จำพรรษาในระหว่างที่โรงเรียนพระปริยัติธรรมปิดอยู่