“ เมื่อแรกเริ่มคือประมาณ พ.ศ. 2522 ถึง 2523 ประมาณนั้น ได้มีความสนใจในเรื่องนี้
แต่ว่ายังไม่ได้มีความรู้ในหลักการและวิธีการที่จะปฏิบัติมากนัก จึงหาโอกาสที่จะศึกษา
โดยการขออาศัยโรงเรียนในสังกัดตำรวจตระเวนชายแดน เป็นแหล่งที่ศึกษา เพราะว่าเห็นว่าโรงเรียนในสังกัดตำรวจตระเวนชายแดนนั้น เป็นโรงเรียนในเขตท้องถิ่นที่ห่างไกลการคมนาคม และมีภาวะที่ยากลำบากต่างๆ ในตอนเริ่มต้นก็มุ่งไปในแง่ที่ว่า ทำอย่างไรเยาวชนที่อยู่ในวัยศึกษาเล่าเรียนอย่างนั้น จะมีสุขภาพพลานามัยแข็งแรงสมบูรณ์ พร้อมที่จะสร้างเสริมสติปัญญาเพื่อการศึกษา และพัฒนาตัวเองให้เป็นประโยชน์ต่อภูมิลำเนาและสังคมสืบต่อไป ”
พระราชดำรัสในโอกาสที่คณะผู้ปฏิบัติงานโครงการตามพระราชดำริ เข้าเฝ้าฯ
ณ อาคารชัยพัฒนา สวนจิตรลดา กรุงเทพมหานคร
วันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม พ.ศ. 2531
ความเป็นมา
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี (เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี) ทรงเริ่มงานพัฒนาเด็กและเยาวชนตั้งแต่พุทธศักราช 2523 และได้ทรงงานต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ด้วยมีพระราชประสงค์ที่จะให้เด็กและเยาวชนของชาติที่ยังขาดโอกาส อาจเนื่องด้วยความแตกต่างทางภูมิศาสตร์ สังคม และวัฒนธรรม ได้มีโอกาสเข้าถึงความมั่นคงทางอาหารและโภชนาการ มีสุขภาพแข็งแรง ได้รับการศึกษาอย่างมีคุณภาพ สามารถพัฒนาตนเองให้เป็นคนดี พึ่งตนเองและช่วยเหลือพัฒนาชุมชน ให้ทุกคนมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
ในครั้งนั้นทรงเริ่มด้วยการทดลองในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน 3 โรงเรียน เมื่อวันที่ 23 เมษายน พ.ศ. 2523 เรียกกันว่า โครงการอาหารกลางวันผักสวนครัว เมื่อประสบผลดีพอควร ใน พ.ศ. 2524 จึงทรงขยายงานไปในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทั่วประเทศ และใช้ชื่อว่าโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน
จากที่ทรงพยายามแก้ไขปัญหานักเรียนขาดอาหารในวันนั้น จนถึงวันนี้งานพัฒนาของพระองค์ได้กลายเป็นรูปแบบของการพัฒนาเด็กและเยาวชนแบบองค์รวม นั่นคือเด็กและเยาวชนได้พัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างสมดุลทั้งด้านพุทธิศึกษา จริยศึกษา หัตถศึกษา และพลศึกษา โดยการทำงานนั้นต้องอาศัยศาสตร์หลากหลายสาขาบูรณาการกัน ทั้งในด้านอาหาร โภชนาการ สุขภาพอนามัย การศึกษา การงานอาชีพ การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมท้องถิ่น กลุ่มบุคคลเป้าหมายจากเดิมที่มีเพียงเด็กวัยเรียนก็ได้ขยายให้ครอบคลุมทั้งเด็กเล็กจนถึงทารกในครรภ์มารดา และเด็กวัยรุ่นในระดับมัธยมศึกษาด้วย
แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร
ตามพระราชดำริ
“ … ในช่วงปีที่ผ่านมา จะเห็นว่ามีงานต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น เพราะว่าในช่วง 13 ปีที่ผ่านมานั้น เหตุการณ์บ้านเมืองและเหตุการณ์ของโลกก็ได้เปลี่ยนแปลงไปมากกว่าเดิม มีการติดต่อในวงที่กว้างขึ้น มีผู้ที่มาช่วยโครงการมากขึ้น ทั้งในทางด้านกำลังแรงและกำลังทรัพย์ จึงเกิดมีความจำเป็นที่จะต้องจัดเรื่องการปฏิบัติงานให้เป็นแผนการที่ทุก ๆ คนและทุก ๆ ฝ่ายจะได้ปฏิบัติไปในแนวที่ใกล้เคียงกันอย่างมากกว่าเก่า ซึ่งก็ได้มีการเขียนเป็นแผนการและได้นำมาปรึกษากันในที่ประชุมโครงการแล้ว ทุก ๆ ท่านที่ได้เข้าประชุมสัมมนาก็คงจะได้รับฟัง ได้แสดงความคิดเห็นและแก้ไขไปบ้างแล้ว เป็นธรรมดาของการเขียนแผนการที่จะต้องเขียนไว้อย่างกลาง ๆ และกว้างที่สุด พอที่จะให้มีแนวทางที่จะดัดแปลง ปรับปรุงให้เหมาะสมกับสถานการณ์ของท้องที่ที่คุณครูแต่ละท่านหรือเจ้าหน้าที่แต่ละคนได้รับผิดชอบ ก็ขอให้ยึดถืออันนี้ คือไม่จำเป็นที่จะต้องเดินตามแบบที่เขียนไว้ตลอดเวลา ให้มีการปรับปรุงตามสมควรได้ แต่ว่ามีส่วนไหนที่เห็นควรจะปรับปรุงหรือแก้ไข หรือที่เขียนมายังเห็นว่าจะปฏิบัติได้ยากในช่วงเวลาอันใกล้ข้างหน้า ก็ให้แจ้งไปที่หน่วยกลางก็จะได้ปรึกษากัน และจะได้มีแนวทางอื่น ๆ ที่จะปฏิบัติการ ถือว่าเป็นการช่วยกัน …”
พระราชดำรัสในโอกาสที่คณะผู้ปฏิบัติงานโครงการตามพระราชดำริ เข้าเฝ้าฯ
ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา กรุงเทพมหานคร
วันอังคารที่ 27 เมษายน พ.ศ. 2536
แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จัดทำขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อพ.ศ. 2535 และจัดทำเป็นแผนพัฒนาที่มีกรอบระยะเวลา 5 ปี สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ต่อมาพบว่ายังมีหลายอย่างที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนฯ อีกทั้งบางตัวชี้วัด เช่น การเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมของเด็กก็ยังไม่สามารถเห็นผลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในตัวเด็กได้ชัดเจน ด้วยข้อจำกัดดังกล่าว ดังนั้นการจัดทำแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ ตั้งแต่ฉบับที่ 4 เป็นต้นไปจึงจัดทำเป็นแผนระยะยาว 10 ปี
พื้นที่ดำเนินการ
การดำเนินงานพัฒนาเด็กและเยาวชน ตามพระราชดำริ ใช้สถานศึกษาเป็นฐานของการพัฒนา เนื่องจากสถานศึกษาเป็นที่รวมเด็กของชุมชน ทำให้เข้าถึงเด็กได้ง่ายและครอบคลุมได้ทั้งหมด ง่ายต่อการดำเนินงาน เป็นแหล่งที่มีผู้มีความรู้ คือครู ซึ่งเป็นแกนสำคัญในการถ่ายทอดความรู้ และพัฒนาทักษะต่างๆ ให้แก่เด็ก และที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือเป็นสถานที่ที่คนในชุมชนเข้าถึงได้ง่าย จึงสามารถเป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนได้ ดังนั้นพื้นที่เป้าหมายในการดำเนินงานจึงประกอบด้วยสถานศึกษาในสังกัดต่าง ๆ รวมทั้งหมู่บ้านในเขตบริการการศึกษาของสถานศึกษาเหล่านั้นด้วย
- โรงเรียนในสังกัดกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน
- โรงเรียนในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน
- ศูนย์การเรียนชุมชนชาวไทยภูเขา “แม่ฟ้าหลวง” ในสังกัดกรมส่งเสริมการเรียนรู้
- โรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม ในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน
- โรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา ในสังกัดสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ
- โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานคร
- โรงเรียนและศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาเด็กวัยเตาะแตะ ในสังกัดขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย