น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระราชทานชี้แนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทยมาเป็นระยะเวลานาน โดยเน้นความสำคัญในการพัฒนาประเทศแบบสร้างพื้นฐานคือ “ความพอมีพอกิน พอใช้” เพื่อมุ่งให้พสกนิกรได้ดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างยั่งยืน มั่นคง และปลอดภัย ดังพระราชดำรัสที่ได้ทรงตรัสไว้เมื่อวันศุกร์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2541 ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา
“…แต่ความจริงเศรษฐกิจพอเพียงนี้กว้างขวางกว่า self-sufficiency คือ self-sufficiency นั้นหมายความว่า ผลิตอะไรมีพอที่จะใช้ ไม่ต้องไปขอยืมคนอื่น อยู่ได้ด้วยตนเอง ที่เขาแปลจากภาษาฝรั่งว่า ให้ยืนบนขาตัวเอง คำว่ายืนบนขาตัวเองนี้ คนบางคนมีเขาพูดว่า ชอบกล ใครจะมายืนบนขา คนอื่นมายืนบนขาเรา เราก็โกรธ แต่ตัวเองยืนบนขาตัวเองก็หกล้ม อันนี้ก็เป็นความคิดที่มันอาจจะเฟื่องไปหน่อย แต่ว่าเป็นตามที่เขาเรียกว่า ยืนบนขาของตัวเอง หมายความสองขาของเรานี่ยืนบนพื้นให้อยู่ได้ไม่หกล้ม ไม่ต้องไปขอยืมขาคนอื่น ๆ มาใช้เพื่อที่จะยืนอยู่…”
“…พอเพียงนี้มีความหมายกว้างขวางยิ่งกว่านี้อีก คือคำว่า พอก็เพียง พอเพียงเนี่ยก็พอเท่านั้นเอง คนเราถ้าพอในความต้องการ มันก็มีความโลภน้อย เมื่อมีความโลภน้อยก็เบียดเบียนคนอื่นน้อย ถ้าประเทศใดมีความคิด อันนี้ไม่ใช่เศรษฐกิจ มีความคิดว่า ทำอะไรต้องพอเพียง หมายความว่า พอประมาณ ไม่สุดโต่ง ไม่โลภอย่างมาก คนเราก็อยู่เป็นสุข พอเพียงนี้อาจจะมีมาก อาจจะมีของหรูหราก็ได้ แต่ว่าต้องไม่ไปเบียดเบียนคนอื่นต้องให้พอประมาณ พูดจาก็พอเพียง ทำอะไรก็พอเพียง ปฏิบัติตนก็พอเพียง…”
จากพระราชดำรัส…สู่โครงการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน
ตามพระราชดำริ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า
กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
กระแสโลกาภิวัตน์ที่ปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วส่งผลต่อวิถีการดำรงชีวิตของประชาชนทั้งประเทศ ไม่เว้นแม้แต่กลุ่มชนที่อยู่ในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกล ดังนั้นใน พ.ศ. 2556 สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี จึงมีพระราชดำริให้ดำเนินงานโครงการส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในชุมชน เพื่อให้ประชาชนในพื้นที่ทุรกันดารห่างไกลซึ่งเป็นเกษตรกรเป็นส่วนใหญ่ สามารถดำรงชีวิตของตนและครอบครัวได้อย่างดีและมีความปกติสุข สามารถพึ่งตนเองได้ มีอาชีพมีรายได้ ทำให้สามารถปรับปรุงสภาพความเป็นอยู่ในครอบครัวได้ดีขึ้น มีกำลังสนับสนุนการศึกษาของบุตรหลาน ส่งผลให้ชุมชนเข้มแข็งอย่างมั่นคงและยั่งยืน