ในการประชุมสัมมนา “รักษ์ป่าน่าน” เมื่อวันจันทร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2560
ณ ศูนย์การเรียนรู้และบริการวิชาการ เครือข่ายแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดน่าน
สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
(เมื่อครั้งดำรงพระอิสริยยศเป็นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี)
ทรงปาฐกถาพิเศษในหัวข้อเรื่อง
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช
พระผู้ทรงอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้ไทย
ขออัญเชิญพระราชดำรัสบางส่วนมา ณ ที่นี้ เพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ
พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
“…เท่าที่ได้ตามเสด็จไปในภาคต่าง ๆ ของประเทศไทยได้สังเกตว่า
ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าหน้าที่ที่เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ตามไปด้วย
ไม่ใช่เฉพาะป่าไม้ สมัยนั้นยังไม่มีอุทยาน มีป่าไม้ทำทุกอย่าง และมีหน่วยงานเกษตร ชลประทาน พัฒนาที่ดิน และกรมแผนที่ทหาร
ทำให้สรุปได้ว่า การทำงานเพื่อความผาสุกของราษฎรนั้น ไม่ใช่พวกใดพวกหนึ่งจะทำได้โดยไม่ปรึกษาคนอื่น…”
ศูนย์ศึกษาการพัฒนา อันเนื่องมาจากพระราชดำริ
“…อีกเรื่องหนึ่งที่คิดว่าน่าสนใจที่เกี่ยวกับป่าไม้โดยที่อาจไม่มีใครนึกโยงถึงคือเรื่อง
ศูนย์ศึกษาการพัฒนาที่มีอยู่ 6 ศูนย์ ที่อยู่ในสภาพภูมิศาสตร์แตกต่างกัน และเป็นที่
ที่หน่วยงานราชการ องค์กรเอกชน และคนทั่วไปเข้ามาช่วยกัน เอาพื้นที่เป็นหลัก
แล้วศึกษาแบบบูรณาการ ใช้วิชาการหลาย ๆ สาขา
ไม่ใช่ว่าตรงนี้ป่าไม้ประมงห้ามเข้า ปศุสัตว์ห้ามเข้า เอาพื้นที่เป็นหลัก
และทุกคนก็ร่วมกันเอาวิชาการของตัวเองมาช่วยทำให้สิ่งนั้นมีค่าขึ้นมาอย่างไร
แล้วนำไปส่งเสริมให้เกษตรกรปฏิบัติให้เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง…”
“..ให้ศูนย์ศึกษาการพัฒนาฯ ทำหน้าที่เสมือนพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติที่มีชีวิต
หรืออีกนัยหนึ่งเป็นสรุปผลการพัฒนาที่ประชาชนจะเข้าไปเรียนรู้และนำไปปฏิบัติได้..”
ปลูกป่าสามอย่าง ประโยชน์สี่อย่าง
“…ใน พ.ศ. 2525 มีพระราชดำริให้จัดตั้งศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยฮ่องไคร้ ตรงนั้นได้ยินคำว่า ป่าสามอย่าง ประโยชน์สี่อย่าง ตอนนี้ก็พูดกันทั่ว ๆ ไป คือนอกจากปลูกไม้พื้นเมืองแล้ว ไม้พื้นเมืองบางทีโตช้า มีพระราชดำริให้ปลูกไม้สำหรับก่อสร้างทำบ้านเรือนและใช้สอย เช่น ไม้ไผ่ ไม้สน ไม้ยาง หวาย ไม้แดง ปลูกไม้กินผล เช่น กล้วย มะม่วง มะละกอ ขนุน ฝรั่ง มะพร้าว ตาล สะเดา แค มะไฟ มะขามป้อม ไม้ใช้ฟืน เช่น ขี้เหล็ก แล้วก็ไม้อื่นทั่ว ๆ ไป ประโยชน์อย่างที่สี่คือ ช่วยชะลอน้ำ ป้องกันดินถล่มโดยเฉพาะอย่างยิ่งไม้พื้นเมืองที่มีระบบรากเหมาะสมกับสภาพที่ดินในที่นั้น…”
ฝายชะลอน้ำ
“…ตามภูเขามักมีทางน้ำเล็ก ๆ ก็โปรดเกล้าฯ ให้ทำฝายเล็ก ๆ ที่เรียกว่าฝายชะลอน้ำ หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า check dam
ทำให้น้ำหล่อเลี้ยงป่าและไม่ไหลกัดเซาะดิน ป่าไม้ดูดน้ำเอาไว้แล้วส่งน้ำขึ้นมาทางใบ สร้างความชุ่มชื้นให้อากาศ…”
ป่าเปียก
“…พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชดำริในการสร้างแนวป้องกันไฟป่า
เรียกว่า ป่าเปียก ซึ่งเป็นการสร้างความชุ่มชื้น เป็นกำแพงกั้นไฟ…”
ป่าชายเลน
“…ป่าอีกชนิดที่โปรดเกล้าฯ ให้ทำคือ ป่าชายเลน จริง ๆ มีทั้งป่าชายเลน ป่าชายหาด แต่จะขอกล่าวเฉพาะป่าชายเลนที่มีความสำคัญต่อระบบนิเวศชายฝั่งทะเล ปัจจุบันถูกทำลายไปมาก ต้องปลูกขึ้นมาใหม่และดูแลให้ดี การขยายพันธุ์ค่อนข้างยาก ต้องอาศัยระดับน้ำขึ้นลง จึงต้องมีหน่วยราชการหลายหน่วยมาร่วมกัน ตัวอย่างที่น่าสนใจคือ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน จังหวัดจันทบุรี โครงการแหลมผักเบี้ย จังหวัดเพชรบุรี…”
ป่าพรุ
“…การศึกษาพื้นที่ป่าพรุเริ่มต้นตั้งแต่ปี 2516 ในการทำงานพัฒนาหรืองานอนุรักษ์ใด ๆ ก็ตาม จะเห็นว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงใช้เวลา ไม่ใช่เข้าไปแล้วทำเลย ต้องไปศึกษา อย่างไปอยู่นราธิวาส เสด็จออกทุกวันตั้งแต่เช้าจนค่ำจนดึก ไปดูแทบจะว่าปูพรมทุกหมู่บ้าน ทรงขับรถไปเองแล้วก็ไปดู…”
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสถึงป่าพรุว่า
“…ป่าพรุเป็นพื้นที่สำคัญต่อความอยู่ดีกินดีของราษฎรรอบพื้นที่พรุ อีกทั้งยังเป็นอ่างเก็บน้ำธรรมชาติที่ชะลอการไหลบ่าของน้ำจากเทือกเขาต่าง ๆ ก่อนระบายลงสู่ทะเล…”
ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก
“…การสร้างป่า นอกจากเอากล้าไม้มาปลูกแล้ว ยังมีที่เขาเรียกว่า ปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก ปลูกป่าโดยไม่รังแกป่า บริเวณที่มีป่าไม้เลื่อนลอย ตัดไม้ไม่หมด มีผลของต้นไม้ตกลงมาไหลตามน้ำ เกิดมาเป็นป่า จะได้ไม่ต้องตัดซ้ำตัดซาก ต้นใหม่จะเกิดขึ้นเองไม่ต้องปลูก โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นไม้ที่อยู่ในที่สูง เมล็ดลงมาใหม่ที่ต่ำลง…”
“…ถ้าเลือกได้ที่เหมาะสมแล้ว ก็ทิ้งป่านั้นไว้ตรงนั้น ไม่ต้องไปทำอะไรเลย ป่าจะเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นป่าสมบูรณ์ โดยไม่ต้องไปปลูกสักต้นเดียว…”
ปลูกป่าในใจคน
“…มีพระราชกระแสประมาณปี 2519 หรือก่อนหน้านั้น เข้าใจว่าหมายถึง
เจ้าหน้าที่ป่าไม้ที่มีจำนวนไม่มากนัก จะไล่จับคนตัดไม้ทำลายป่าก็จับกันไม่หวาดไม่ไหว
ควรจะใช้วิธีที่เรียกว่าปลูกป่าไม้ในใจคน คือ
ให้อธิบายให้เข้าใจว่าการมีป่าไม้มีประโยชน์อย่างไร แนะนำให้ปลูกพืชที่จะขายเป็นรายได้ โดยไม่ต้องตัดไม้
หรือปล่อยส่วนหนึ่งเป็นป่าไม้ อีกที่หนึ่งปลูกไม้ที่มีคุณค่าที่ขายได้ แล้วไม่ต้องไปตัดไม้…”
“…ควรจะปลูกต้นไม้ลงในใจคนเสียก่อน
แล้วคนเหล่านั้นก็จะพากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดิน และรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง…”